ประวัติศาสตร์จีน 2,000 ปี กับนิยายกำลังภายในเรื่องดัง
1
2
3
4
5
Silph
# 1
[ 24-03-2007 - 22:31:57 ]
คิดว่า มีหลายคนที่เป็นแฟนนิยายกำลังภายในของจีน แต่หลายคนพออ่านแล้วคงสงสัยว่าเนื้อเรื่องในนิยายเรื่องต่างๆ นั้นอยู่ช่วงไหนของประวัติศาสตร์จีนกันแน่ เรื่องอะไรเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง หรือแม้แต่ไม่มีพื้นความรู้ของประวัติศาสตร์จีนในช่วงนั้นๆ ทำให้อ่าน / ดูหนังไม่ค่อยเข้าใจ
พอดีผมไปพบเนื้อหาประวัติศาสตร์จีนแบบย่อ (แต่ละเอียดพอสมควร) ที่เว็บพันธ์ทิพย์ ก็เลยจะเอามาเทียบกับนิยายกำลังภายในของจีนให้ดูกันล่ะ
เริ่มกันเลยนะ
Silph
# 2
[ 24-03-2007 - 22:33:33 ]
ยุคเริ่มแรกของจีน
จักรพรรดิเหลือง
สมัยนั้น อยู่กันเป็นเผ่าๆ มี เผ่าหัวเซี่ย เผ่าตงอี๋ และ ‘เผ่าเหมียวหมาน โดยชนเผ่าหัวเซี่ยอยู่ภายใต้การนำของหวงตี้และเหยียนตี้ ต่อมารบชนะชนเผ่าตงอี๋ที่นำโดยชือโหยว
ภายหลัง เพราะเพื่อการแย่งชิงอำนาจกัน หวงตี้และเหยียนตี้ได้ทำสงครามกัน สุดท้ายเหยียนตี้พ่ายแพ้ หวงตี้ซึ่งเดิมครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือก็แผ่ขยายอิทธิพลลงใต้ ถึงตอนนี้ชนเผ่าหัวเซี่ยก็แผ่ขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง ชาวจีนเชื่อว่าพวกตนต่างสืบเชื้อสายมาจาก หวงตี้ ( หวง คือ เหลือง ตี้ คือ กษัตริย์ ดังนั้นจึงเรียกตำแหน่งจักรพรรดิว่า หวงตี้ หรือฮ่องเต้นั่นเอง )
สมัยเลือกตั้ง … เนื่องจากกำลังการผลิตยังน้อย ผู้คนจึงได้แต่อาศัยการรวมพลังกันจึงจะสามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำงานและมีการแบ่งสันปันส่วนอาหาร และเพื่อการอยู่รอดอีกทั้งมีการพัฒนาต่อไปนี้เอง พวกเขาจึงต้องคัดเลือกหัวหน้าที่ฉลาด มีความสามารถและยุติธรรม เพื่อเป็นผู้นำในการผลิต และสามารถต่อสู้กับผู้รุกรานจากภายนอกอีกด้วย
คำเล่าขานระบุว่า เหยา สืบทอดให้ซุ่น ซุ่นสืบทอดให้หวี่ หวี่สืบทอดให้เกาเถา และเมื่อเกาเถาตายลง อี้ซึ่งได้รับเลือกเป็นทายาทสืบตำแหน่งหัวหน้าก็จะทำหน้าที่นำเผ่าต่อ หัวหน้าเผ่าผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดแต่อย่างใดเลย พวกเขาต่างได้รับเลือกจากความสามารถแท้ๆ โดยทางประวัติศาสตร์แล้วเราเรียกวิธีปฏิบัติเช่นนี้ว่า “การสละราชบัลลังก์” ซึ่งยุคนี้ผู้คนยังมีความเท่าเทียมกัน ทรัพย์สินทั้งหมดถือเป็นของส่วนกลาง ดังนั้นจึงไม่มีการแย่งชิงและโจรผู้ร้าย
ชุมชนในยุคนั้น ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่รุนแรงท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย สมัยเหยาต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งร้ายแรง จึงสั่งให้กุ่น ซึ่งเป็นบิดาของหวี่ไปหาทางแก้ไข กุ่นได้ใช้วิธีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทว่าหลังจากทำงานด้วยความอุตสาหะอยู่ 9 ปี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น เมื่อซุ่นสั่งให้หวี่กั้นน้ำ หวี่ที่ได้รับสืบทอดประสบการณ์จากกุ่น จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการขุดคลองเพื่อชักน้ำ ในที่สุดก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นผลสำเร็จ ซุ่นจึงตั้งหวี่เป็น”รัชทายาท”
เมื่อกำลังการผลิตมีเพิ่มมากขึ้น ย่อมมีผลผลิตที่เหลือจากความต้องการ เหล่าเชลยศึกที่ถูกจับมาก็ไม่ถูกสังหาร แต่จะถูกนำตัวมาเป็นทาสเพื่อบังคับให้เป็นแรงงานในการผลิต โดยผลผลิตที่ได้จะตกเป็นของนายทาสนั้น สภาพการณ์เช่นนี้ ได้ก่อรูปรากฏการณ์สำคัญคือ การยึดกรรมสิทธิครอบครองทรัพย์สิน
สังคมเพื่อส่วนรวมดับสูญลงเมื่อหวี่ตายลง บุตรชายของหวี่ก็สังหารอี้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้า และเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าโดยสายเลือดในระบบวงศ์วานว่านเครือ จากนั้นมา ประวัติศาสตร์จีนก็ก้าวเข้าสู่ราชวงศ์แรกที่มีการสืบทอดบัลลังก์อำนาจโดยสายเลือด นั่นคือ สมัยราชวงศ์เซี่ย
Silph
# 3
[ 24-03-2007 - 22:34:29 ]
ราชวงศ์เซี่ย
ถือเป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่เริ่มระบบการปกครองแบบพ่อสืบทอดให้ลูก การก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยซึ่งมีรากฐานของอำนาจจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เป็นสัญญาณว่าสังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ทรัพย์สินเป็นของสาธารณะอันยาวนาน กำลังถูกแทนที่ด้วยสังคมแบบยึดครองทรัพย์สินส่วนตัว
โดยปกติการก่อเกิดของระบบใหม่ มักต้องเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์ เมื่อเซี่ยฉี่ บุตรของเซี่ยหวี่เข้ารับสืบทอดตำแหน่งของบิดา ก็ได้เชิญบรรดาหัวหน้าชนเผ่าจากดินแดนต่าง ๆ มาร่วมในงานเลี้ยง เพื่อรับรองการขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ของเขา กลุ่มฮู่ซื่อ ไม่พอใจเซี่ยฉี่ ที่ยกเลิกระบบ การคัดสรรผู้มีความสามารถเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีอยู่เดิม จึงไม่ได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้น เซี่ยฉี่จึงยกกองทัพออกไปปราบฮู่ซื่อพ่ายแพ้ จากการรบครั้งนี้ ทำให้ก้าวแรกของระบบอำนาจใหม่นี้แข็งแรงขึ้น
ระบบการปกครองแบบใหม่นี้ค่อย ๆพัฒนาขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองคนใหม่ ต้องเผชิญปัญหาการขาดประสบการณ์ในการปกครอง รากฐานของอำนาจที่มาจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว ในช่วงระยะของการฟูมฟักของการก้าวขึ้นสู่อำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่านี้
สภาพการขูดรีด แย่งชิง และความกระหายในการเสพสุขของผู้ปกครองก็ยังเป็นไปอย่างรุนแรง และย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจในกลุ่มผู้ปกครองด้วยกันเองได้
ดังนั้น เมื่อเซี่ยฉี่ตายลง บุตรชายของเขาทั้งห้าคนก็แย่งชิงอำนาจกัน ผลคือเมื่อไท่คัง ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากฉี่ ก็ไม่สนใจดูแลกิจการงานเมือง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสุรานารี ต่อมาจึงถูก อี้ ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐฉง สบโอกาสเข้าแย่งชิงอำนาจ ภายหลังเมื่ออี้ถูกขุนนางของเขาที่ชื่อหานจั๋ว สังหารแล้ว เส้าคัง บุตรชายของไท่คังซึ่งหลบหนีไปได้รับความช่วยเหลือจากโหย่วหวี รวบรวมขุมกำลังเก่าของเซี่ยขึ้นใหม่ แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ภายในของกลุ่มหานจั๋วเกิดความวุ่นวาย เข้าช่วงชิงอำนาจเพื่อกอบกู้ราชวงศ์เซี่ยกลับคืนมา
เมื่อถึงปลายราชวงศ์เซี่ย ข้อขัดแย้งทางชนชั้นนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเซี่ยเจี๋ย (พระเจ้าเกียดในห้องสินตอนต้นเรือง) ได้ขึ้นครองบัลลังก์ ก็ไม่คิดจะปฏิรูปแก้ไขสิ่งใด ยังคงเห่อเหิมฟุ้งเฟ้อในอำนาจ โดยสั่งให้ก่อสร้างตำหนักพระราชวัง ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยมากมาย ร่ำดื่มสุรานารีทุกคืนวัน โดยไม่สนใจใยดีต่อความทุกข์ยากของเหล่าประชาราษฎร์ ไพร่ฟ้าจึงพากันด่าประณาม เหล่าขุนนางที่จงรักภักดี กลับถูกสั่งคุมขังหรือประหารชีวิต บรรดาเจ้านายชั้นสูงต่างก็พากันเอาใจออก
ซางทัง หัวเผ่าชาวยิน เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงใช้ข้ออ้าง ‘ฟ้ากำหนด’ กล่าวหาว่าเซี่ยทำผิดต่อฟ้า จึงต้องถูกลงทัณฑ์ โดยขอให้ทุกคนรวมพลังกันเข้าโจมตี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งฟ้า ซางทังชนะ เจี๋ยหลบหนีไป และเสียชีวิตที่หนันเฉา ราชวงศ์เซี่ยอวสาน
Silph
# 4
[ 24-03-2007 - 22:35:25 ]
ราชวงศ์ซาง
หลังจากที่ซางทังก่อตั้งประเทศแล้ว เนื่องจากได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของราชวงศ์เซี่ย จึงเลิกการกดขี่บังคับราษฎร โดยหันมาใช้หลักเมตตาธรรมในการปกครอง ทำให้การเมืองภายในของราชวงศ์ซางค่อนข้างเป็นไปด้วยดี ไม่ค่อยมีความขัดแย้ง สภาพทางการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ กำลังทหารก็เข้มแข็งมากขึ้น จึงเริ่มทำสงครามกับแว่นแคว้นรอบนอก ซึ่งโดยมากก็ประสบชัยชนะ
ในรัชสมัยของซางทังผู้ปกครองพระองค์แรก มีเสนาบดีที่ฉลาดปราดเปรื่องคอยช่วยเหลืออยู่ถึง 2 คน ได้แก่ อีหยิ่น และจ้งฮุย พวกเขาดำรงตำแหน่งเสนาบดีซ้ายขวา ก็มีผลงานดีเด่นในการบริหารบ้านเมือง หลังจากจ้งฮุยเสียชีวิต บทบาททางการเมืองของอีหยิ่นก็ยิ่งโดดเด่นมากขึ้น จนกลายเป็นเสนาบดีเก่าแก่คนสำคัญ
หลังจากซางทังสิ้นพระชนม์ เนื่องจากบุตรชายคนโตไท่ติงได้เสียชีวิตไปก่อน ดังนั้นราชบัลลังก์จึงตกเป็นของบุตรชายคนรองชื่อไว่ปิ่ง เมื่อไว่ปิ่งเสียชีวิต น้องชายของเขาจงเหยิน ก็สืบตำแหน่งต่อมา เมื่อจงเหยินสิ้นชีวิตลง ราชบัลลังก์ก็ส่งผ่านไปยังบุตรชายของไท่ติง อันได้แก่ ไท่เจี่ย ซึ่งก็คือหลานของซางทัง
จากบันทึกประวัติศาสตร์ว่าด้วยชนเผ่ายิน กล่าวว่า “ไท่เจี่ยครองราชย์สามปี ไม่อยู่ในธรรม ไม่เคารพกฎของซางทัง จนถูกอีหยิ่นจับคุมขังไว้ในวัง 3 ปี จึงรู้สำนึกผิด อีหยิ่นจึงเชิญไท่เจี่ยกลับสู่บัลลังก์ จากนั้น ไท่เจี่ยก็ปกครองแผ่นดินด้วยเมตตาธรรม กระทั่งเหล่าขุนนางยอมสยบ ไพร่ฟ้าอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นเรื่องเล่าที่แสดงว่า อีหยิ่นเป็นผู้ธำรงการปกครองโดยหลักธรรม ทำให้ราชวงศ์ซางสามารถปกครองแผ่นดินด้วยความสงบร่มเย็นทว่า การปกครองด้วยการแบ่งชนชั้น ย่อมไม่อาจสลายความละโมบในอำนาจและการแก่งแย่งผลประโยชน์ภายในวังหลวงได้
บันทึกประวัติศาสตร์ของชนเผ่ายิน ระบุไว้ว่า “นับแต่รัชสมัยจ้งติง เป็นต้นมา ผู้ปกครองได้ละทิ้งความชอบธรรม แต่งตั้งเชิดชูแต่พวกพ้อง เหล่าญาติมิตรต่างพากันแบ่งฝักฝ่ายเพื่อแย่งชิงอำนาจ เกิดความวุ่นวายไม่หยุดหย่อน เป็นเหตุให้เหล่าขุนนางกบฏก่อศึกล้มล้างราชบัลลังก์”
จากสมัยจ้งติงจนถึงผานเกิง นับได้ 9 ชั่วรุ่น เต็มไปด้วยการแย่งชิงบัลลังก์ภายในราชวงศ์ซาง อันเป็นต้นเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์ และท่ามกลางความวุ่นวายในช่วงนี้ ก็ได้มีการย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยครั้ง มีหลักฐานระบุว่า ในสมัยราชวงศ์ซางมีการย้ายเมืองหลวงถึง 5 หลังจากอู่ติงสิ้นพระชนม์ ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองก็สิ้นสุดลงภายในเวลาไม่นานนัก
เมื่อมาถึงรัชสมัยของจู่เกิงและจู่เจี่ยจวบกระทั่งรัชสมัยตี้อี่ และตี้ซิ่งนั้น ศึกขัดแย้งทางการเมืองภายในก็ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ขุนนางรอบข้างต่างลุกฮือขึ้นต่อต้าน แม้ว่าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรงนี้ แต่ซางโจ้วหรือตี้ซิ่ง (ก็คือติ้วอ๋องในห้องสิน หรือโจ้วอ๋องในนาจานั่นเอง)กลับไม่คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ทั้งไม่รับฟังคำตักเตือนจากผู้หวังดี ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งยิ่งโหมกระพือความขัดแย้งภายในเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็เปิดศึกกับเผ่าตงอี๋ เพิ่มภาระอันหนักอึ้งให้กับประชาชน และทำให้สูญเสียกำลังทหารภายในประเทศอีกด้วย ดังนั้น เมื่อโจวอู่หวัง (กี ฮวด ในห้องสิน) ยกทัพเข้ามาประชิดชายแดน ซางโจ้วจึงได้แต่รวบรวมกำลังพล เพื่อออกไปรับศึก ผลสุดท้ายกำลังทหารฝ่ายซางขาดกำลังใจในการรบ กลับเป็นฝ่ายยอมแพ้เปิดทางให้กับโจวอู่หวัง เมื่อเห็นดังนั้น ซางโจ้วจึงหอบทรัพย์สมบัติหลบหนีไปยังเมืองลู่ไถ สุดท้ายเสียชีวิตที่นั่น ราชวงศ์ซางจึงถึงกาลสิ้นสุด
Silph
# 5
[ 24-03-2007 - 22:36:42 ]
ราชวงศ์โจว
มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เดิมอาศัยอยู่ในแถบเสียกาน ต่อมาอพยพไปตั้งรกรากยังโจวหยวน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอฉีซานมณฑลส่านซีของจีน เมื่อ 1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราชชนเผ่าต้นตระกูลโจวก็มีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น พวกเขาทางหนึ่งรวบรวมรัฐเล็ก ๆรอบข้างเข้ามา อีกทางหนึ่งโยกย้ายนครหลวงจากโจวหยวนมายังดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเฟิง หรืออำเภอฉางอานในปัจจุบัน โดยตั้งเป็นเมืองเฟิงจิง จากนั้นแพร่ขยายอิทธิพลไปทางทิศตะวันออก ทำให้เกิดข้อพิพาทกับราชวงศ์ซาง
ขณะนั้นราชวงศ์ซางในรัชสมัยตี้ซิ่งหรือซางโจ้วนั้น ได้กักขังซีป๋อชั่ง(หรือต่อมาเป็นโจวเหวินหวังผู้นำของราชวงศ์โจว)ไว้ที่โหย่วหลี่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ขุนนางของโจวถวายหญิงงามและเพชรนิลจินดามากมายให้แก่ซาง ตี้ซิ่งจึงยอมปล่อยตัวซีป๋อชั่ง เมื่อซีป๋อชั่งกลับถึงรัฐของตน ก็เร่งระดมพลเพื่อยกทัพบุกซาง
ในเวลานั้น การเมืองภายในราชวงศ์ซางล้มเหลวฟอนเฟะ เกิดการแตกแยกทั้งภายในนอก โจวเหวินหวัง เห็นว่าสถานการณ์สุกงอมแล้ว ขณะตนใกล้สิ้นลมจึงกำชับสั่งเสียให้บุตรชายไท่จื่อฟา (กี ฮวด)หรือโจวอู่หวัง รวบรวมไพร่พลยกทัพบุกซาง แต่อุดมการณ์ยังไม่สำเร็จก็ตายก่อน
เมื่อโจวอู่หวังขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากโจวเหวินหวัง ก็กรีฑาทัพครั้งใหญ่โดยมี พลรถ 300 พลทหารราบ 450,000 หน่วยกล้าตาย 3,000 มุ่งสู่ตะวันออก ระหว่างทางบรรดารัฐเล็ก ๆได้แก่ ยง สู เชียง จง เวย หลู เผิง ผู เป็นต้นต่างยอมสวามิภักดิ์เข้าร่วมกับกองทัพ โจวอู่หวังได้ประกาศโทษทัณฑ์ความผิดของซางโจ้ว ซางโจ้วจึงจัดทัพ 170,000 ออกมาสู้รบด้วยโจวอู่หวัง ทว่าเหล่าทหารของซางไม่มีกำลังใจสู้รบ ต่างพากันทิ้งอาวุธหลบหนี เป็นเหตุให้ทัพโจวได้ชัยชนะ ฝ่ายซางโจ้วหลบหนีไป ภายหลังเสียชีวิตที่ลู่ไถ ราชวงศ์ซางจึงล่มสลาย
นับแต่นั้นมา ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์โจว โจวอู่หวังเมื่อได้ชัยชนะเหนือซางแล้ว ก็เข้าครอบครองดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของซาง อีกทั้งยังปราบปรามรัฐเล็ก ๆ รอบข้าง ทว่าปัญหาอันหนักอึ้งที่โจวอู่หวังต้องเผชิญก็คือการจะรักษาผืนแผ่นดินตะวันออกนี้ไว้ได้อย่างไร
ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้นโยบาย ‘เมืองหน้าด่าน’ โดยมอบหมายให้ญาติพี่น้องและขุนนางที่มีความดีความชอบออกไปปกครองยังดินแดนต่าง ๆ ตั้งให้เป็นผู้ครองแคว้น โดยผู้ครองแคว้นจะได้รับอำนาจในการปกครองดินแดนรอบนอกผืนหนึ่ง อีกทั้งพวกเขาเหล่านั้นยังถือเป็นผู้พิทักษ์ราชสำนักโจวอีกด้วย
นอกจากนี้ โจวอู่หวังยังแต่งตั้งให้อู่เกิง บุตรของซางโจ้วดูแลแคว้นซาง เพื่อสามารถควบคุมชาวซางต่อไป โดยส่งน้องชายของเขา ได้แก่ ก่วนซู่ ไช่ซู่ และฮั่วซู่ ให้คอยตรวจสอบอู่เกิง นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งให้โจวกงตั้น ไปปกครองแคว้นหลู่ ส่วนเจียงซ่าง ไปปกครองแคว้นฉี และเส้ากงซื่อไปครองแคว้นเอี้ยน
หลังจากโจวอู่หวังสิ้นพระชนม์ เฉิงหวัง บุตรชายของเขาได้สืบทอดราชบัลลังก์ แต่เนื่องจากยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงมอบหมายให้โจวกงตั้นหรือโจวกง เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เป็นเหตุให้ก่วนซู่และไช่ซู่ไม่พอใจโจวกง จึงปล่อยข่าวใส่ร้ายโจวกงกล่าวหาว่าวางแผนชิงบัลลังก์ ต่อมา อู่เกิงก็เข้าร่วมกับก่วนซู่และไช่ซู่รวบรวมแว่นแคว้นเล็ก ๆ ทางภาคตะวันออก อันได้แก่สวี เหยี่ยน ป๋อกู เป็นต้น เพื่อเป็นฐานก่อการกบฏ โจวกงจึงต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม โดยใช้เวลา 3 ปี สุดท้ายจึงสามารถปราบกบฏอู่เกิง ก่วนซู่และไช่ซู่ลงได้ ประหารอู่เกิงและก่วนซู่ เนรเทศไช่ซู่
จากการปราบกบฏครั้งนี้ ทำให้ราชวงศ์โจวมีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากโจวอู่หวังเมื่อล้มล้างราชวงศ์ซางแล้ว ก็กลับไปนครหลวงเฮ่าจิง(ย้ายมาจากเฟิงจิง)แล้วพบว่า ระยะทางระหว่างเมืองเฮ่าจิงกับศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่อยู่ห่างไกลกันเกินไป ดังนั้นจึงคิดจะย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ในแถบลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าเซี่ยมาแต่เดิม แต่ความคิดนี้ยังไม่ทันได้เป็นจริง ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน
โจวเฉิงหวัง เมื่อได้สืบทอดราชบัลลังก์แล้ว ก็ได้สานต่อแนวปณิธานของโจวอู่หวัง โดยกำหนดตั้งเมืองหลวงใหม่บริเวณลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่วโดยใช้เมืองใหม่นี้เป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ (ลั่วอี้=ลั่วหยาง=ลกเอี๋ยงนั่นเอง)ซึ่งก็สามารถร่นระยะทางไปได้มากทีเดียว
เนื่องจากโจวกง ได้สำเร็จราชการเมื่อครั้งอยู่ที่นครเฮ่าจิงหรือนครหลวงตะวันตกมาโดยตลอด ดังนั้นบุตรชายคนโตของเขาชื่อป๋อฉิน จึงได้รับสืบทอดตำแหน่งเจ้าแคว้นหลู่ ต่อจากบิดา ส่วน เจียงซ่าง (เกียงจู แหย ในห้องสิน)ได้รับแต่งตั้งไปครองแคว้นฉี และเส้ากง ครองแคว้นเอี้ยน
ภายหลังเหตุการณ์ปราบกบฏอู่เกิงสงบราบคาบลง โจวอู่หวังก็ได้พระราชทานดินแดนซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอู่เกิงให้กับน้องชายชื่อคังซู่ โดยแต่งตั้งเป็นเจ้าแคว้นเว่ย นอกจากนี้ พระองค์ยังได้แต่งตั้งเวยจื่อ ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดาของซางโจ้วกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซาง ที่ไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏอู่เกิงขึ้นเป็นเจ้าแคว้นซ่ง ต่อมา เมื่อโจวเฉิงหวังปราบแคว้นถังได้แล้ว ก็มอบดินแดนที่ยึดมาได้ให้กับถังซู่อวี๋ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องปกครอง แล้วตั้งเป็นแคว้นจิ้น
บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นเหล่านี้ มักมีเรื่องขัดแย้งกันบ้าง มีสัมพันธไมตรีต่อกันบ้าง บางครั้งยังคานอำนาจซึ่งกันและกันเอง สภาพการปกครองเช่นนี้ส่งผลให้ในช่วงต้นของราชวงศ์โจวมีความสงบและมั่นคงทางการเมือง
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ไพร่พลชาวโจวกลับต้องผ่านการศึกสงคราม เพื่อขยายดินแดนออกไปทางตอนใต้อันได้แก่ ปา ผู เติ้ง ฉู่ ทางตอนเหนือจรดดินแดนซู่เซิ่น เอี้ยน ป๋อ ทิศตะวันออกจรดชายฝั่งทะเล ทิศตะวันตกจรดกาน ชิง รวมเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่กว่าในสมัยราชวงศ์ซางเสียอีก ราชวงศ์โจวได้วางระบบการปกครองภายในที่ค่อนข้างจะประสบผลสมบูรณ์ มีการกำหนดบทลงโทษที่เป็นระบบกว่าในสมัยซาง มีการเตรียมกองกำลังทหารเป็นจำนวนมากกว่าสมัยซาง ถึงกับมีคำกล่าวว่า ‘ภายใต้แผ่นฟ้านี้ ผืนดินและไพร่พลล้วนเป็นของโจวหวัง’ (แต่ก่อนเป็นเผ่าๆ แล้วยอมรับเผ่าที่แข็งที่สุด แต่มาสมัยนี้ถูกปราบให้ต้องยอมจริงๆ)
ดังนั้น เมื่อโจวหวังพระราชทานที่ดินและไพร่พลให้แก่บรรดาเจ้าแคว้นนั้น ก็ต้องจัดพิธีรับที่ดินและไพร่พลนั้น เหล่าเจ้าครองแคว้นที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนเพื่อเข้าเฝ้าโจวหวัง โดยมีภารกิจในการปกป้องราชสำนักโจว พวกเขายังจะต้องส่งบรรณาการให้กับโจวหวังด้วย (รวมทั้งการเกณฑ์ทหารไพร่พล) หากไม่ส่งบรรณาการก็จะถือว่าคิดการก่อกบฏต่อราชสำนัก ต้องได้รับโทษทัณฑ์
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป บรรดาเจ้าครองแคว้นก็มักมีการตัดแบ่งหรือแลกเปลี่ยนดินแดนกันเอง จึงค่อย ๆเปลี่ยนที่ดินเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันก็มีการบุกเบิกผืนที่ดินทำกินแหล่งใหม่มากขึ้น เมื่อมีที่นาเป็นของตัวเองมากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะที่เป็นการบ่อนทำลายต่อระบบการทำนารวมเกิดขึ้น (ไปทุ่มเททำนาของตัวเองก่อน เพราะนาบุกเบิกใหม่ไม่ต้องส่งบรรณาการให้โจว)
เมื่อมาถึงรัชกาลโจวลี่หวัง ขูดรีดภาษีอย่างหนัก ข่มเหงราษฎร อีกทั้งปิดกั้นผู้คนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การปกครอง จนกระทั่งเกิดการลุกฮือภายในขึ้น ลี่หวังหนีไปเมืองจื้อ ประชาชนจึงพากันสนับสนุนให้โจวติ้งกงและเจามู่กง ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ร่วมกันบริหารราชการแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อโจวเซวียนหวัง ได้สืบบัลลังก์ต่อมา เนื่องจากได้รับบทเรียนข้างต้น จึงปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองเสียใหม่ และเพื่อขจัดภัยคุกคามจากชนเผ่าหรงตี๋ ที่อยู่ทางตอนเหนือ จึงต้องทำศึกป้องกันอาณาเขตอีกครั้ง สุดท้ายได้รับชัยชนะกลับมา นอกจากนี้ยังประสบชัยในการสงครามกับแคว้นจิงฉู่ และหวยอี๋ ดังนั้น จึงได้รับการเรียกขานเป็นยุคฟื้นฟู ทว่า สังคมโดยรวมยังคงตกอยู่ภายใต้มรสุมแห่งความขัดแย้งภายในต่อไป
วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในห้วงประวัติศาสตร์มักจะไม่เท่าเทียมกัน อาทิ ในสมัยซางและโจวดินแดนในเขตจงหยวน (ภาคกลาง)ได้เข้าสู่ความรุ่งเรืองของยุคสำริด ในขณะที่ดินแดนรอบนอกของโจว ยังคงล้าหลังอยู่มาก ดังนั้น ภายใต้แรงดึงดูดของผลประโยชน์และเงินทอง สงครามระหว่างชาวโจวและแว่นแคว้นอื่น ๆก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ครั้งหนึ่งโจวเจาหวัง ยกทัพบุกชนเผ่าหมาน ซึ่งอาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)และแม่น้ำฮั่นสุ่ย แต่ต้องรับศึกหนักจากการต่อต้านอย่างเข้มแข็งของชาวเผ่าหมาน กองทัพของโจวสูญเสียกำลังไพร่พลแทบหมดสิ้น เจาหวังเองก็สิ้นชีพที่แม่น้ำฮั่นสุ่ย การศึกครั้งนี้ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในยุคต้นราชวงศ์โจวตะวันตกเลยทีเดียว นับแต่นั้นมาราชวงศ์โจวตะวันตกก็ขาดความสามารถในการควบคุมแว่นแคว้นต่าง ๆทางตอนใต้ไปโดยสิ้นเชิง(ก็ดันดื้อไปรบ แล้วแพ้เขา เขาเลยไม่กลัว ถ้าไม่รบแล้วใช้ฑูตไปตำหนิเขาอาจจะเกรงๆอยู่บ้าง)
แม้ว่าภายหลังโจวมู่หวัง และโจวเซวียนหวัง ก็เคยยกทัพลงใต้ ทว่ายังคงไม่อาจพลิกผันสถานการณ์ใดๆได้มากนัก ชนเผ่าตงอี๋ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกก็เริ่มรุกล้ำเข้ามาในชายแดนโจว ทำให้โจวต้องมีการศึกรบติดพันมาโดยตลอด ครั้งหนึ่ง แคว้นเอ้อ ไม่ยอมส่งบรรณาการให้กับโจว ทั้งยังยกไพร่พลรุกเข้ามาถึงรอบนอกเมืองลั่วอี้ นครหลวงตะวันออก ทำความตื่นตระหนกให้กับบรรดาขุนนางในราชสำนัก โจวเซวียนหวังจัดส่งกองทัพพิทักษ์นครหลวงเข้าต่อกร แต่ก็ไม่อาจต้านทานไว้ได้ ภายหลังได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากบรรดาเจ้าแคว้นที่อยู่รอบข้าง จึงสามารถเอาชนะได้ในที่สุด
ยังมีพวกเฉวี่ยนหรง ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือก็เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดในยุคโจวตะวันตก ในรัชกาลโจวมู่หวัง พวกเฉวี่ยนหรงเริ่มแข็งแกร่งขึ้น กั้นขวางหนทางการติดต่อของราชวงศ์โจวกับแคว้นต่าง ๆในแถบตะวันตกเฉียงเหนือ ดังนั้น โจวมู่หวังจึงต้องยกกองทัพปราบเฉวี่ยนหรงจนได้ชัยชนะ จึงโยกย้ายชาวเฉวี่ยนหรงจำนวนหนึ่งมาสู่ดินแดนไท่หยวน เปิดเส้นทางติดต่อระหว่างโจวและแคว้นต่าง ๆทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายหลังพวกเฉวี่ยนหรงยังคงบุกรุกตามชายแดนโจวอีกหลายครั้ง
ต่อมาในรัชสมัยโจวโยวหวัง ซึ่งเป็นบุตรของโจวเซวียนหวัง ลุ่มหลงในตัวนางสนมเปาซื่อ ถึงกับคิดสังหารรัชทายาทอี๋จิ้ว เพื่อแต่งตั้งบุตรชายของนางเปาซื่อนามป๋อฝู (ไม่น่าเลย ลูกตัวเองทั้งคู่) เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ เนื่องจากมารดาของอี๋จิ้วเป็นบุตรีของเจ้าแคว้นเซิน เป็นเหตุให้เจ้าแคว้นเซินร่วมมือกับพวกเฉวี่ยนหรงบุกโจมตีโจวตะวันตก สังหารโจวโยวหวัง ณ เชิงเขาหลี่ซาน อีกทั้งฉวยโอกาสปล้นสะดมทรัพย์สินมีค่าภายในเมืองไปจนหมดสิ้น ราชวงศ์โจวตะวันตกจึงถึงกาลล่มสลาย
ฝ่ายอี๋จิ้วที่ได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก้าวขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ทรงพระนามว่าโจวผิงหวัง ต้องย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองลั่วอี้ นครหลวงตะวันออก นับแต่นั้น ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคโจวตะวันออก
Silph
# 6
[ 24-03-2007 - 22:37:46 ]
โจวตะวันออก (ชุนชิว=ยุคผลัดกันเป็นใหญ่,จั้นกว๋อ=ยุครัฐสงคราม)
ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก ผู้นำจะรักษาฐานอำนาจการปกครองของตนโดยมีตำแหน่ง ‘เจ้าแห่งฟ้า’ ซึ่งมีศักดินาสูงสุด อีกทั้งสามารถห้ามไม่ให้บรรดาเจ้าแคว้นร่วมมือหรือรบพุ่งซึ่งกันและกัน
เมื่อ โจวผิงหวัง ย้ายเมืองหลวงไปตะวันออก ราชสำนักโจวก็อ่อนแอลง จึงไม่มีอำนาจปกครองเหนือเหล่าแว่นแคว้นต่าง ๆอีก ทำให้เกิดเป็นสภาวะสุญญากาศทางการเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกัน ชนเผ่า หมาน อี๋ และหรงตี๋ ที่อยู่รอบนอกตามตะเข็บชายแดน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากแผ่นดินจงหยวน อีกทั้งมีการผสมผสานระหว่างชนเผ่า ทำให้ชุมชนเหล่านี้เจริญก้าวหน้าตามติดมาอย่างกระชั้นชิด
ในขณะที่แว่นแคว้นต่าง ๆในแถบจงหยวนมีเงื่อนไขของความเจริญรุดหน้าที่ไม่ทัดเทียมกัน มีบ้างเข้มแข็ง บ้างอ่อนแอ ดังนั้น ทั่วทั้งภูมิภาคจึงเกิดการจับขั้วของอำนาจระหว่างแคว้น มีทั้งความร่วมมือและแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่
ดังนั้นในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกจึงเป็นยุคที่มีความพลิกผันทางการเมืองอย่างสูง โจวผิงหวังเมื่อย้ายนครหลวงไปยังตะวันออก ดินแดนฝั่งตะวันตกก็กลายเป็นแคว้นฉิน ครอบคลุมเขตแดนของชนเผ่าหรง และดินแดนโดยรอบ กลายเป็นแคว้นที่เข้มแข็งทางตะวันตก
สำหรับแคว้นจิ้น ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานซี ส่วนแคว้นฉี และหลู่ อยู่ในมณฑลซานตง แคว้นฉู่ อยู่ในมณฑลหูเป่ย สำหรับปักกิ่งและดินแดนทางตอนเหนือของมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบันเป็นแคว้นเอี้ยน
นอกจากนี้ทางตอนใต้ของลำน้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียงก่อเกิดเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆมากมาย อาทิ แคว้นอู๋ แคว้นเยว่ เป็นต้น ล้วนเกิดจากการรวบรวมแว่นแคว้นเล็กที่อยู่โดยรอบเขตแดนของตน จนกระทั่งมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเองประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงกลายสมรภูมิเลือดแห่งการแย่งชิงอำนาจของเจ้าแคว้นเหล่านี้ การแย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำที่ครองอำนาจเด็ดขาดในจงหยวนนั้น
เริ่มต้นจาก ฉีหวนกง เจ้าแคว้นฉีมอบหมายให้เสนาบดีก่วนจ้ง (หรือ ขวัน ต๋ง ที่กล่าวถึงกันมาก ในสามก๊ก) แก้ไขปรับปรุงระบบการปกครองภายใน ทำให้แคว้นฉีเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งยังดำเนินกุศโลบายเรียกร้องให้ ‘พิทักษ์โจว ปราบอี๋’ นั่นคือพิทักษ์ราชสำนักโจวและร่วมมือปราบปรามชนเผ่านอกจงหยวน อาทิเช่น ร่วมมือกับแคว้นเอี้ยนปราบชนเผ่าหรง หรือร่วมมือกับแคว้นต่าง ๆหยุดยั้งการรุกรานของชนเผ่าตี๋ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังร่วมกับแคว้นหลู่ ซ่ง เจิ้ง เฉิน เว่ย สวี่ และเฉา ยกทัพปราบแคว้นฉู่ เพื่อทวงถามบรรณาการให้กับราชสำนักโจว แต่เดิมแคว้นฉู่มีกำลังทหารที่เข้มแข็ง แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการศึกปีแล้วปีเล่า อีกทั้งระย่อต่อความฮึกหาญของฉีหวนกง จึงได้แต่ยอมทำสัญญาสงบศึก หลังจากนั้น ฉีหวนกงก็เรียกชุมนุมบรรดาเจ้าแคว้นต่าง ๆอีกหลายครั้ง ราชสำนักโจวก็ส่งตัวแทนเข้าร่วมการชุมนุมด้วย ยิ่งเป็นการเสริมสร้างอำนาจบารมีให้กับฉีหวนกงกลายเป็นผู้นำในดินแดนจงหยวน
เมื่อสิ้นฉีหวนกงแล้ว แคว้นฉีเกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน เป็นเหตุให้อ่อนแอลง แคว้นฉู่จึงได้โอกาสขยับขยายขึ้นเหนือมาอีกครั้ง ซ่งเซียงกง เจ้าแคว้นซ่งคิดจะสืบทอดตำแหน่งผู้นำจงหยวนแทนฉีหวนกง จึงเข้าต่อกรกับแคว้นฉู่ สุดท้ายแม้แต่ชีวิตก็ต้องสูญสิ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ แคว้นพันธมิตรที่เคยอยู่ภายใต้การนำของแคว้นฉี อาทิ แคว้นหลู่ ซ่ง เจิ้ง เฉิน ไช่ สวี่ เฉา เว่ย เป็นต้น ต่างก็พากันหันมาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉู่แทน
ในขณะที่แคว้นฉู่คิดจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวนนั้นเอง แคว้นจิ้น ก็เข้มแข็งขึ้นมา จิ้นเหวินกง ทำการปรับการปกครองภายในครั้งใหญ่ เพิ่มความเข้มแข็งทางการทหาร อีกทั้งยังคิดแย่งชิงตำแหน่งผู้นำจงหยวน ขณะนั้นโจวเซียงหวัง ผู้นำของราชวงศ์โจวตะวันออกถูกบุตรชายสมคบกับชาวเผ่าตี๋ ขับไล่ออกจากวัง
จิ้นเหวินกงเห็นว่าเป็นโอกาสในการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวน จึงนัดแนะบรรดาเจ้าแคว้นต่าง ๆ เพื่อล้มบัลลังก์ขององค์ชายผู้ทรยศ จากนั้นจัดส่งโจวเซียงหวังกลับสู่ราชสำนักโจว จึงได้รับ ‘ธวัชเชิดชูเกียรติ กองทัพของจิ้นและฉู่สองแคว้นเข้าปะทะกันที่เมืองผู ทัพจิ้นได้ชัยเหนือทัพฉู่ หลังการศึกครั้งนี้ จิ้นเหวินกงเรียกประชุมแคว้นพันธมิตร โจวหวังก็เข้าร่วมประชุมด้วยพระองค์เอง และได้ประทานตำแหน่ง ผู้นำจงหยวนให้กับจิ้นเหวินกง
ในช่วงเวลาแห่งการแย่งตำแหน่งผู้นำจงหยวนระหว่างแคว้นจิ้นและฉู่นั้นเอง แคว้นฉี และฉิน ได้กลายเป็นขั้วมหาอำนาจทางทิศตะวันออกและตะวันตกไป ในช่วงปลายยุคชุนชิว แคว้นฉู่ร่วมมือกับฉิน แคว้นจิ้นจับมือกับฉี สองฝ่ายต่างมีกำลังที่ทัดเทียมกัน
ทว่า สภาวะแห่งการแก่งแย่งตำแหน่งผู้นำจงหยวนกลับทวีความขัดแย้งทางการเมืองภายในของแต่ละแคว้นมากขึ้น ดังนั้น จึงถึงจุดสิ้นสุดของยุคผู้นำที่ ‘ชูธงนำทัพ’ออกปราบปรามบรรดาชนเผ่าภายนอก เมื่อแคว้น ซ่ง ทำสัญญาพันธมิตรกับแคว้น จิ้น และ ฉู่ ว่าต่างฝ่ายจะไม่โจมตีกัน มีการส่งทูตเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน จะให้ความช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และจะเข้าร่วมรบต้านทานศัตรูจากภายนอก ( ‘ธงนำทัพ’เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงความร่วมมือและการแย่งชิงอำนาจของผู้นำจงหยวน การยกเลิก‘ธงนำทัพ’ยังเป็นการสะท้อนถึงความพยายามของบรรดาแว่นแคว้นเล็ก ๆที่ต้องการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากการควบคุมของแคว้นมหาอำนาจ)
แคว้นจิ้นและฉู่ กลับเปิดศึกครั้งใหญ่ที่เยียนหลิง ฉู่พ่ายแพ้ และเมื่อ สองแคว้นเปิดศึกอีกครั้งที่จั้นป่าน ฉู่พ่ายแพ้อีก ในช่วงเวลานี้ ก็มีการศึกระหว่างแคว้นอีกหลายครั้งเช่น แคว้นจิ้นกับฉิน จิ้นกับฉี จิ้นล้วนเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ จนกระทั่งปี 546 ก่อนคริสตศักราช แคว้นซ่ง ร่วมกับแว่นแคว้นอื่นอีกนับสิบแคว้น ทำสัญญาทางไมตรีกับจิ้นและฉู่อีกครั้ง โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่า “นับแต่นี้ไป บรรดาเจ้าครองแคว้นเล็ก ๆทั้งหลายจะจัดส่งบรรณาการให้กับแคว้นจิ้นและฉู่โดยเท่าเทียมกัน” ดังนั้น แคว้นจิ้นและฉู่จึงถือว่าได้แบ่งปันอำนาจกันฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
ในขณะที่แคว้นจิ้นและฉู่เข้าแย่งชิงอำนาจผู้นำจงหยวนนั้นเอง ทางตอนใต้ของลำน้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียงก็ได้ก่อเกิดแคว้น และแคว้นเยว่ ขึ้น แคว้นจิ้นได้จับมือกับแคว้นอู๋ เพื่อต้านทานอำนาจฉู่ ดังนั้น ระหว่างแคว้นอู๋และฉู่จึงเกิดศึกกันหลายครั้ง ในปี 506ก่อนคริสตศักราช แคว้นอู๋ยกทัพบุกแคว้นฉู่ ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม โดยสามารถรุกเข้าถึงเมืองหลวงของฉู่ นับแต่นั้นมา กำลังอำนาจของแคว้นฉู่ก็ถดถอยลง
ในขณะที่แคว้นจิ้นจับมือแคว้นอู๋เพื่อจัดการแคว้นฉู่ แคว้นฉู่ก็ร่วมมือกับแคว้นเยว่เพื่อป้องกันอู๋ ดังนั้น ระหว่างแคว้นอู๋และแคว้นเยว่จึงเกิดศึกไม่ขาด เจ้าแคว้นอู๋นามเหอหลี เสียชีวิตในสมรภูมิรบ ราชบุตรฟูไช สาบานว่าจะพิชิตโกวเจี้ยน เจ้าแคว้นอู๋ เพื่อล้างแค้นให้กับบิดา และในปีถัดมาเมื่อโกวเจี้ยนยกทัพมาอีกครั้งจึงต้องพ่ายแพ้กลับไป โกวเจี้ยนแสร้งว่ายอมศิโรราบ ถึงกับยอมทำตัวเป็นบ่าวทาสของฟูไซ เพื่อสั่งสมกำลังพล รอจังหวะโอกาสอันดีขณะที่ฟูไชเจ้าแคว้นอู๋ขึ้นเหนือเพื่อช่วงชิงตำแหน่งผู้นำจงหยวนกับแคว้นจิ้นนั้นเอง โกวเจี้ยนก็ยกทัพบุกเมืองหลวงของแคว้นอู๋ ฟูไชได้แต่รีบกลับมาเจรจายอมสงบศึก แต่ต่อมาอีกไม่นานนัก แคว้นเยว่ก็สามารถบุกทำลายแคว้นอู๋ลงได้อย่างราบคาบ จากนั้นโกวเจี้ยนก็ขยายอิทธิพลขึ้นเหนือ เพื่อเข้าร่วมชุมนุมเจ้าแคว้นเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวน
ในยุคชุนชิว [ปี 770-476 ก่อนคริสตศักราช] นี้ ความร่วมมือและสู้รบของแคว้นต่าง ๆ นอกจากเป็นการกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของแว่นแคว้นและดินแดนต่าง ๆแล้ว ยังมีส่วนช่วยเร่งเร้าการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ระหว่างชนเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย หลังจากผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โยกย้ายผลัดเปลี่ยนฝักฝ่ายแล้ว บรรดาเจ้าแคว้นขนาดเล็กก็ทยอยถูกกลืนโดย 7 นครรัฐใหญ่ และแคว้นรอบข้างอีกสิบกว่าแคว้น
เมื่อเข้าสู่ยุคจั้นกว๋อ หรือยุครัฐสงคราม [ปี 475-221 ก่อนคริสตศักราช] จึงมีสภาพโดยรวมดังนี้ นครรัฐฉู่ คุมทางตอนใต้ นครรัฐเจ้า คุมทางเหนือ นครรัฐเอี้ยน คุมตะวันออกเฉียงเหนือ นครรัฐฉี คุมตะวันออก นครรัฐฉิน คุมตะวันตก โดยมีนครรัฐหาน นครรัฐวุ่ย อยู่ตอนกลาง ซึ่งในบรรดานครรัฐทั้ง 7 นี้ มี 3 นครรัฐใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนลุ่มน้ำฮวงโหจากทิศตะวันตกสู่ตะวันออกอันได้แก่นครรัฐฉิน วุ่ยและฉี ซึ่งมีกำลังอำนาจยิ่งใหญ่ทัดเทียมกัน
( แคว้น หาน จ้าว และวุ่ย ถูกเรียกรวมว่า ซำจิ้น หรือสามจิ้น เพราะเกิดจากขุนนางทรงอิทธิพล 3 ตระกูลของแคว้นจิ้น อาศัยจังหวะที่ราชวงศ์เจ้านายแคว้นจิ้นอ่อนแอ ก่อกบฏ แล้วแบ่งประเทศเป็น 3 แคว้น ทำให้แคว้นจิ้นอันยิ่งใหญ่ ที่รบชนะทั่วทิศต้องถูกหาร3 )
นับจากวุ่ยเหวินโหว เจ้านครรัฐวุ่ยขึ้นสู่อำนาจ ก็ได้นำพาให้นครรัฐวุ่ยก้าวขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจในแผ่นดินจงหยวน เมื่อนครรัฐวุ่ยเข้มแข็งขึ้น เป็นเหตุให้นครรัฐหาน เจ้า และฉินต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันไม่หยุดหย่อน
ในช่วงก่อนคริสตศักราช 354 นั้นเอง นครรัฐเจ้า โจมตีแคว้นเว่ย นครรัฐวุ่ยเห็นว่าแคว้นเว่ยเป็นแคว้นในปกครองของตน จึงนำทัพบุกนครหานตาน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของนครรัฐเจ้า นครรัฐเจ้าหันไปขอความช่วยเหลือจากนครรัฐฉี นครรัฐฉีจึงส่งแม่ทัพเถียนจี้ ไปช่วยนครรัฐเจ้า เถียนจี้ใช้กลศึกของซุนปิน เข้าปิดล้อมนครต้าเหลียง เมืองหลวงของวุ่ย เวลานั้นถึงแม้ว่ากองทหารของวุ่ยจะสามารถเข้าสู่นครหานตานได้แล้ว ทว่ากลับจำต้องถอนกำลังเพื่อย้อนกลับไปกอบกู้สถานการณ์ของรัฐตน สุดท้ายเสียทีทัพฉีที่กุ้ยหลิง ถูกตีแตกพ่ายกลับไป และในปีถัดมา นครรัฐวุ่ยและหานก็ร่วมมือกันโจมตีทัพฉีแตกพ่าย เมื่อถึงปี 342 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐวุ่ยโจมตีนครรัฐหาน นครรัฐหานขอความช่วยเหลือจากนครรัฐฉี นครรัฐฉีจึงมอบหมายให้แม่ทัพเถียนจี้ออกศึกอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีซุนปินเป็นที่ปรึกษาในกองทัพ วางแผนหลอกล่อให้ทัพวุ่ยเข้าสู่กับดักที่หม่าหลิง ที่ซึ่งธนูนับหมื่นของทัพฉีเฝ้ารออยู่ ความพ่ายแพ้คราวนี้ผังเจวียน แม่ทัพใหญ่ของนครรัฐวุ่ยถึงกับฆ่าตัวตาย รัชทายาทของนครรัฐวุ่ยถูกจับเป็นเชลย ‘การศึกที่หม่าหลิง’ จึงนับเป็นการศึกครั้งสำคัญในยุคจั้นกว๋อ เนื่องจากได้สร้างดุลอำนาจทางตะวันออกระหว่างนครรัฐฉีและนครรัฐวุ่ยให้มีกำลังทัดเทียมกัน
ส่วนนครรัฐฉิน ภายหลังการปฏิรูปของซางเอียง (บางที่เรียก ซางยาง)โดยหันมาใช้กฎหมายในการปกครองแล้ว สามารถก้าวกระโดดขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดา 7 นครรัฐ ดังนั้นจึงเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลสู่ตะวันออก เริ่มจากปราบซำจิ้น (นครรัฐหาน เจ้าและวุ่ย) โดยเข้ายึดดินแดนฝั่งตะวันตกของนครรัฐวุ่ย จากนั้นขยายออกไปยังทิศตะวันตก ทิศใต้และเหนือ เมื่อถึงปลายปี 400 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉินก็มีดินแดนกว้างใหญ่ใกล้เคียงกับนครรัฐฉู่
ในขณะที่นครรัฐฉินเข้าโรมรันพันตูกับซำจิ้นนั้น นครรัฐฉีก็แผ่ขยายอำนาจออกไปทางตะวันออก ในปี 315 ก่อนคริสตศักราช เจ้านครรัฐเอี้ยนสละบัลลังก์ให้แก่เสนาบดีจื่อจือ เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายภายใน นครรัฐฉีจึงฉวยโอกาสนี้บุกโจมตีนครรัฐเอี้ยน แต่สุดท้ายประชาชนนครรัฐเอี้ยนลุกฮือขึ้นก่อหวอด เป็นเหตุให้กองทัพฉีต้องล่าถอยจากมา ขณะเดียวกัน รัฐที่สามารถต่อกรกับนครรัฐฉินได้มีเพียงนครรัฐฉีเท่า กลยุทธชิงอำนาจใหญ่ที่สำคัญในขณะนั้นคือ ฉินและฉี ต้องหาทางให้นครรัฐฉู่มาเสริมพลังของตนให้ได้
การปฏิรูปทางการเมืองของนครรัฐฉู่ล้มเหลว เป็นเหตุให้รัฐอ่อนแอลง แต่ก็ยังมีดินกว้างใหญ่ไพศาล อีกทั้งประชากรจำนวนมากเป็นกำลังหนุน นครรัฐฉู่ร่วมมือกับนครรัฐฉีต่อต้านฉิน ส่งผลกระทบต่อการขยายดินแดนของนครรัฐฉิน ดังนั้นเอง นครรัฐฉินจึงส่งจางอี้ ไปเป็นทูตสันถวไมตรีกับนครรัฐฉู่ ชักชวนให้ฉู่ละทิ้งฉีเพื่อหันมาร่วมมือกับนครรัฐฉิน โดยฉินจะยกดินแดนซาง กว่า 600 ลี้ให้เป็นการแลกเปลี่ยน ฉู่หวยหวัง เจ้านครรัฐฉู่ละโมบโลภมากจึงแตกหักกับนครรัฐฉี ต่อเมื่อเจ้านครรัฐฉู่ส่งคนไปขอรับที่ดินดังกล่าว นครรัฐฉินกลับปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องราว ฉู่หวยหวังโมโหโกรธา จึงจัดทัพเข้าโจมตีนครรัฐฉิน แต่กลับเป็นฝ่ายแพ้พ่ายกลับมา นครรัฐฉู่เมื่อถูกโดดเดี่ยวและอ่อนแอ นครรัฐฉินจึงบุกเข้ายึดดินแดนจงหยวนได้อย่างวางใจ โดยเริ่มจาก นครรัฐหาน และวุ่ย จากนั้นเป็นนครรัฐฉี
เมื่อถึงปี 286 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉีล้มล้างแคว้นซ่ง เป็นเหตุให้แคว้นใกล้เคียงหวาดระแวง นครรัฐฉินจึงนัดหมายให้นครรัฐหาน เจ้า วุ่ยและเอี้ยนโจมตีนครรัฐฉีจนแตกพ่าย นครรัฐเอี้ยนที่นำทัพโดยแม่ทัพเล่ออี้ ฉวยโอกาสบุกนครหลินจือ เมืองหลวงของนครรัฐฉีและเข้ายึดเมืองรอบข้างอีก 70 กว่าแห่ง ฉีหมิ่นหวัง เจ้านครรัฐฉีหลบหนีออกนอกรัฐ สุดท้ายถูกนครรัฐฉู่ไล่ล่าสังหาร นครรัฐฉีที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรต้องจบสิ้นลงในลักษณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นครรัฐฉินจึงได้โอกาสแผ่อิทธิพลเข้าสู่ภาคตะวันออก
ในปี 246 ก่อนคริสตศักราช ฉินหวังเจิ้ง (หรือต่อมาคือฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีน) ได้สืบราชบัลลังก์นครรัฐฉินต่อมา โดยมีที่ปรึกษาเช่นเว่ยเหลียว(ปู้ เหวย ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพ่อแท้ๆของตน) หลี่ซือ เป็นต้น ช่วยเหลือในการถากถางเส้นทางในการรวบรวมแผ่นดิน บ้างใช้เงินทองล่อซื้อบรรดาขุนนางของ 6 นครรัฐ แทรกซึมเข้าไปก่อความวุ่นวายในการปกครองของนครรัฐทั้ง 6 อีกทั้งส่งกองกำลังรุกเข้าประชิดดินแดนปีแล้วปีเล่า เมื่อถึงปี 230 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉินโจมตีนครรัฐหานแตกพ่ายไป เมื่อถึงปี 221 ก่อนคริสตศักราชกำจัดนครรัฐฉีสำเร็จ จากนั้น 6 นครรัฐต่างก็ทยอยถูกนครรัฐฉินกวาดตกเวทีอำนาจใหญ่ไป นับแต่นั้นมา ประเทศจีนก็รวมเป็นหนึ่งเดียว
Silph
# 7
[ 24-03-2007 - 22:39:42 ]
ราชวงศ์ฉิน (เรื่องดังๆ ของช่วงเวลานี้ ได้แก่ เจาะเวลาหาจิ๋นซี, Hero, จิ๋นซีฮ่องเต้)
การปฏิรูปซางหยางขับดันให้การพัฒนาของฉิน 1 ใน 7 รัฐใหญ่แห่งยุคจ้านกั๋วหรือยุคสงคราม พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว พลังอันแข็งแกร่งทางทหารและความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ฉินพิชิตรัฐใหญ่ทั้งหกได้อย่างง่ายดาย ระหว่าง 26 ปี นับจากช่วงที่ ฉินอ๋อง เจิ้ง ก้าวสู่บัลลังก์กษัตริย์ กระทั่งปีที่เขาสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนที่เรียกกันว่าฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) พระองค์พิชิตศึกกับบรรดารัฐใหญ่ร่วมยุคสมัยทั้งหมด ในที่สุด ฉินก็บรรลุการผนึกรวมรัฐต่างๆเป็นแผ่นดินใหญ่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จและการปกครองแบบรวบอำนาจที่ศูนย์กลาง
ฉินสื่อหวงตี้ได้กำหนดมาตรการหลายอย่างเพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งแก่อำนาจส่วนกลาง และรวบรวมเอกภาพแห่งชาติ อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของจักรพรรดิ ขณะที่เหล่าขุนนางใหญ่ มีสิทธิเพียงถกเถียงและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของรัฐ โดยไม่มีสิทธิในการตัดสินใจใดๆ สำหรับรัฐบาลกลางประกอบด้วย 3 ขุนนางใหญ่คือ เฉิงเซี่ยง(อัครเสนาบดี) เป็นผู้ช่วยมีอำนาจรองจากจักรพรรดิช่วยบริหารบ้านเมือง ยวี่สื่อต้าฟู(ที่ปรึกษาองค์จักรพรรดิ) คอยกำกับดูแลข้าราชบริพารทุกระดับชั้น และไท่เว่ย(ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) รับผิดชอบกิจการทหาร ดินแดนทั้งหมดถูกแบ่งเป็นเขตการปกครอง 36 แห่ง ซึ่งแบ่งย่อยออกไปเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รัฐอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งมีระบบทะเบียนสำมะโนประชากรที่เป็นเอกภาพและเหนียวแน่นบังคับใช้ทั่วประเทศ อีกทั้งมีการสร้างมาตรฐานระบบภาษาเขียน ระบบเงินตรา มาตราชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นแกนที่คอยรวบรวมเอกภาพของแผ่นดินจีนตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี ตลอดจนมีการสร้างถนนหนทาง ลำคลองขนาดมหึมา
นอกจากนี้ กลุ่มคนร่ำรวยถูกย้ายให้มาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือเสียนหยาง เพื่อขยายความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของใจกลางประเทศ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ถูกส่งไปยังเขตกันดารไกลปืนเที่ยงเพื่อทำไร่ทำนา ส่วนพวกนักโทษอาชญากรก็ถูกอัปเปหิไปต่อสู้ป้องกันประเทศตามเขตแนวหน้าชายแดน สื่อหวงตี้นั่นเอง ที่ทรงดำริเชื่อมกำแพงของแว่นแคว้นต่างๆในยุคจ้านกั๋ว เป็นกำแพงเมืองมหัศจรรย์ที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อสกัดกั้นชนเผ่าซงหนู
สื่อหวงตี้ใช้อำนาจเหล็กอย่างหฤโหด อาทิ การสังหารนักคิดนักปราชญ์จำนวนมากโดยการฝังทั้งเป็น อาทิ กลุ่มลัทธิขงจื้อกว่า 400 คน เผาหนังสือคัมภีร์ที่แตกแถว เกณฑ์แรงงานทาสไปสร้างกำแพงเมือง พระราชวัง สวน และสุสานกระทั่งล้มตายกันไปเป็นเบือนับล้าน ขณะที่รีดนาทาเร้นส่วยภาษีจากประชาชน สื่อหวงตี้ก็ใช้ชีวิตสุดหรูฟู่ฟ่า ใช้เงินราวเศษกระดาษในการท่องเที่ยวสำราญไปทั่วประเทศ
การบังคับใช้แรงงานทาสอย่างทารุณอย่างไม่จบสิ้น ภาระภาษีอันหนักอึ้งของประชาชน และการลงทัณฑ์อาชญากรอย่างโหด
+++
ม กลายเป็นแรงกระตุ้นมรสุมแห่งความเกลียดชังและความไม่พอใจที่เริ่มพุ่งพวยและระเบิดในปลายรัชสมัยของสื่อหวงตี้
สื่อหวงตี้สวรรคตในปีก่อนค.ศ.210 ซึ่งเป็นปีที่ 37 ของการครองราชย์เหนือรัฐฉิน ระหว่างเดินทางกลับจากการตรวจราชการจากดินแดนทางใต้ อัครเสนาบดีหลี่ซือ และจ้าว กาวขันทีผู้ทรงอิทธิพล ก็ได้วางแผนปลงพระชนม์องค์รัชทายาทฝูซู และประกาศตั้งหูฮ่าย พระอนุชาของฝูซู เป็นองค์รัชทายาท ซึ่งทรงก้าวสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิองค์ที่สอง
หูฮ่ายเป็นหุ่นเชิดของจ้าว กาว และทรงใช้อำนาจเหล็กอัน
+++
มเกรียมเสียยิ่งกว่าจักรพรรดิพระองค์แรก กระทั่งปี 209 ก่อนค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 2 ในการครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ที่สอง การลุกฮือใหญ่ของชาวนาซึ่งมีเฉิน เซิ้ง และอู๋ กว่าง เป็นผู้นำ ก็ได้ระเบิดขึ้น จากนั้น คลื่นมหาชนทั่วดินแดนได้ผลึกกำลังกันลุยศึกโค่นล้มอำนาจฉินได้แก่ ประชาชนตามท้องถิ่นชนบท กองกำลังที่ยังเหลือรอดของเหล่าผู้ปกครองอดีตรัฐใหญ่ทั้งหก กลุ่มข้าราชการระดับล่างในรัฐบาลฉิน ตลอดจนกลุ่มทหารติดอาวุธในบางพื้นที่ และกองกำลังแห่งฉินก็พ่ายยับอย่างสาหัสสากรรจ์
เซี่ยงหวี่ (เซี่ยง อี่)ทายาทขุนนางในอดีตรัฐใหญ่ทั้งหก และหลิว ปัง(เล่าปัง)ข้าราชการระดับล่างในรัฐบาลฉิน ต่างนำทัพของตนลุยฝ่าด่านเข้าโจมตีฉิน ขณะเดียวกัน จ้าว กาวได้ปลิดชีพทั้งหลี่ ซือ และหู ฮ่ายจักรพรรดิองค์ที่สอง จากนั้น ก็เชิด จื่อ อิงพระนัดดาของจิ๋นซีฯสู่บัลลังก์ ในปี 207 ก่อนค.ศ. กองกำลังเซี่ยงหวี่โจมตีทัพฉินแตกกระจุย นอกจากนี้ ทัพฉินยังพ่ายยับอย่างหนักในสนามรบจู้ลู่ ปีเดียวกัน จื่อ อิงก็สังหารจ้าว กาว ปีถัดมา หลิว ปังก็บุกทะลวงไปถึงชานเมืองป้าส้างประชิดเซียนหยาง ในที่สุด จื่อ อิงก็เสด็จออกจากเมืองหลวงและยอมยกธงขาว ปิดม่านราชวงศ์ฉินอันยิ่งใหญ่ จากนั้น เซี่ยงหวี่ จึงตั้งตัวเป็น ‘กษัตริย์แห่งฉู่’(ฌ้อ ปา อ๋อง) และแต่งตั้ง หลิว ปังเป็น ‘กษัตริย์แห่งฮั่น’(ฮั่นจง อ๋อง) ในปี 202 ก่อนค.ศ. เซี่ยงหวี่อัตวินิบาตกรรมหนีความอัปยศพ่ายแพ้ และหลิวปังก็ทะยานสู่บัลลังก์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น
แม้ราชวงศ์จะครองแผ่นดินเพียงชั่วเวลาอันแสนสั้นเพียง 15 ปี แต่อิทธิพลของฉินผู้รวบรวมจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยืนยงเหนือประวัติศาสตร์มาตลอดนับพันปี ดินแดนฉินคือประเทศจีนปัจจุบัน ยกเว้นพรมแดนด้านตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางอย่างสิ้นเชิงของฉิน เป็นแบบอย่างของราชวงศ์ต่อๆมา กำแพงเมืองจีนยังยืนผงาดมาถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีอำนาจเผด็จการของยุคราชวงศ์ไหน ดุเดือดเทียมทานฉินได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ราชวงศ์ฉินดับวูบในชั่วเวลาอันแสนสั้น.
Silph
# 8
[ 24-03-2007 - 22:43:16 ]
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (เรื่องดังๆ ในยุคนี้ ได้แก่ ขุนศึกลำน้ำเลือด เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างเซี่ยงอี่ (ฌ้อปาอ๋อง) กับ หลิวปัง ที่เริ่มจากการเป็นเพื่อน พันธมิตรไปสู่การเป็นศัตรูคู่แค้น)
หลิวปังผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นนั้น แต่เดิมเป็นเพียงชนชั้นขุนนางผู้น้อย จิ๋นซีฮ่องเต้ในราชวงศ์ฉินสิ้นพระชนม์ลง อำนาจของราชวงศ์ฉินคลอนแคลน มีการลุกฮือขึ้นก่อการจากกบฏชาวนาและบรรดาเชื้อสายเจ้าผู้ครองแคว้นเดิม มีการตั้งตัวเป็นใหญ่ในทุกหัวระแหง หลิวปังก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เพาะสร้างอำนาจขึ้นจากขุมกำลังเล็ก ๆ ต่อมาได้กรีฑาทัพเข้านครเสียนหยางปิดฉากยุคสมัยของราชวงศ์ฉิน และส่งมอบนครเสียนหยางให้กับเซี่ยงอี่ว์ หรือฌ้อปาอ๋อง ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ในแคว้นฉู่(หรือฌ้อ นั่นเอง) และมีขุมกำลังเข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น หลิวปังจึงได้รับการอวยยศขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋อง
(ที่จริงตอนออกเดินทัพนั้นทั้งสองตกลงกันว่าใครเข้าเมืองได้ก่อน จะให้คนนั้นเป็นฮ่องเต้ เซี่ยงอี่ มั่นใจกำลังพล และฝีมือรบของตนจึงบุกตะลุยไปเรื่อย เลยต้องพบกับการต่อต้านตลอดทาง ส่วนเล่าปัง ทหารน้อย และเต็มไปด้วยชาวบ้านไม่เจนศึก จึงใช้วิธีพระเดช พระคุณ คือที่ไหนแข็งข้อก็โจมตี ที่ไหนพอจะเกลี้ยกล่อมได้ก็อภัย ประชาชนที่เกลียดการปกครองของฉินอยู่แล้วจึงมาเข้ากับเล่าปัง ดังนั้นกองทัพเล่า ปัง จึงถึงก่อน แต่แล้วเซี่ยง อี่ ตระบัตรสัตย์ นำทัพใหญ่มาถึง แล้วไล่ให้ เล่า ปัง ไปเป็นอ๋อง เมืองฮั่นจง ที่ห่างไกล)
หลังจากสะสมกำลังพลกล้าแกร่งขึ้น จึงเปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับเซี่ยงหวี่ การศึกครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่า สงครามฉู่ฮั่น กินเวลานาน 4 ปี จนกระทั่งถึงปี 202 ก่อนคริสตศักราช หลิวปังได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์จักรพรรดิ์ สถาปนาราชวงศ์ฮั่น ที่นครฉางอาน(เตียงอั๋น ในสามก๊ก)
ระบบบริหารการปกครองของราชวงศ์ฮั่นโดยรวมแล้วยังคงยึดรูปแบบเช่นเดียวกับราชวงศ์ฉิน แต่เนื่องจากราชวงศ์ฉินที่ปกครองอย่างเข้มงวดเป็นเหตุให้ล่มสลายอย่างรวดเร็ว ฮั่นเกาจู่(หรือฮั่น โก โจ) จึงประกาศยกเลิกกฎหมายที่ทารุณโหดร้ายบางส่วน อีกทั้งดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อประชาชน เช่น ลดการเก็บภาษีอากรและการเกณฑ์แรงงาน ปลดปล่อยกำลังทหารและประชาชนสู่บ้านเกิดของตน จัดสรรที่ดินทำกินให้กับบรรดาทหารที่ร่วมรบชนะศึกสงคราม อีกทั้งพระราชทานรางวัลเป็นเสบียงอาหารและตำแหน่งทางราชการ นอกจากนี้ ยังเข้าควบคุมพ่อค้าที่ร่ำรวย ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ผืนดินที่ทำการเพาะปลูกได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้สภาพสังคมได้มีเวลาในการฟื้นฟูและจัดระเบียบใหม่ และกลับสู่ความสงบสุขที่เคยเป็น
จวบจนรัชสมัยของเหวินตี้ และจิ่งตี้ ในอีกกว่า 60 ปีให้หลัง ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม มีการจัดเก็บภาษีแต่น้อยและเกณฑ์แรงงานต่ำ สภาพเศรษฐกิจและสังคมได้รับการเยียวยาจนกระทั่งเริ่มมีความเจริญรุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกลือ ธุรกิจเหล็กกล้า งานหัตถกรรม และการค้าขายต่างก็ขยับขยายเติบโตขึ้น เนื่องจากในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นได้มีการปูนบำเหน็จให้กับบรรดาขุนนางและเจ้านายเชื้อพระวงศ์จำนวนมาก ดังนั้นอำนาจของเจ้านายเหล่านี้จึงนับวันจะแกร่งกล้าขึ้น ในรัชสมัยจิ่งตี้จึงเกิดเหตุการณ์ ‘กบฏ7แคว้น’ขึ้น หลังจากกบฏถูกปราบราบคาบลง อิทธิพลอำนาจของเหล่าขุนนางก็อ่อนโทรมลง อำนาจจากส่วนกลางเข้มแข็งขึ้น
เมื่อถึงรัชสมัยอู่ตี้ (ระยะเวลาครองราชย์ 54 ปี ถือเป็นกษัตริย์ชาวฮั่นที่ครองบัลลังก์ยาวนานที่สุดของจีน) จึงถือเป็นยุคทองของฮั่นตะวันตก เศรษฐกิจรุ่งเรือง ทรัพย์สินในทองพระคลังล้นเหลือ มีการกำหนดเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้ภายในประเทศ มีข้อห้ามในการหลอมสร้างเหรียญกษาปณ์เป็นส่วนตัว ธุรกิจหลอมเหล็กกลายเป็นกิจการของรัฐ มีการตรากฎหมายการขนส่งลำเลียง วางข้อกฎหมายระเบียบใบอนุญาตต่าง ๆ ทำให้รายได้ท้องพระคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ฮั่นอู่ตี้จึงหันไปสนใจนโยบายต่อต่างแดน เช่น ชนเผ่าซงหนู ที่คอยรบกวนอยู่ทางชายแดนภาคเหนือมาเป็นเวลานาน ฮั่นอู่ตี้ก็ได้ยกทัพออกปราบถึง 3 ครั้งครา ขับไล่ชนเผ่าซงหนูให้ถอยร่นกลับเข้าไปยังดินแดนทะเลทรายทางตอนเหนือ นำสันติสุขมายังดินแดนชายขอบตะวันตกของจีน อีกทั้งยังบุกเบิกพื้นที่ทำไร่นาในแถบดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซ่อมแซมกำแพงเมืองจีน จัดตั้งระบบไฟสัญญาณแจ้งเหตุตามชายแดน และยังส่งจางเชียน ไปเป็นทูตสันถวไมตรียังดินแดนตะวันตก เพื่อเปิดเส้นทางการค้าออกไปยังดินแดนเอเชียกลาง อันเป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘เส้นทางสายไหม’
การบุกเบิกเส้นทางสายไหมนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก ด้วยเส้นทางการค้าทางบก ฮั่นอู่ตี้รับฟังความคิดเห็นของต่งจงซู เชิดชูแนวคิดขงจื้อละทิ้งปรัชญาแนวคิดสำนักอื่น ศึกษาคัมภีร์อู่จิง ซึ่งเป็นตำราว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติตนของปัญญาชน ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นเหตุให้แนวคิดขงจื้อ ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการจัดสร้างหอสมุดแห่งชาติ เพื่อจัดเก็บแผนภาพและตำรับตำรา อันเป็นแหล่งบ่มเพาะทางความรู้ และมีความเจริญทางวัฒนธรรมอย่างมากตามมา ดังเช่นที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์จีนซือหม่าเชียน (นักประวัติศาสตร์คนดังของจีนโบราณ) ได้จัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่มาของชนชาติจีนจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมาถึงรัชสมัยของเจาตี้ และเซวียนตี้นั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงก้าวไปข้างหน้า ทว่า กลับแฝงเร้นไว้ด้วยเงามืดของการเมือง เกิดการซ่องสุมอำนาจและความพยายามในการล้มล้างฐานอำนาจเดิม ทำให้ชาวเมืองพากันหวั่นหวาดความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ส่วนนโยบายต่อชนเผ่านอกด่านคือ ซงหนู ได้หันมาใช้การผูกมิตรแทน โดยมีการจัดส่งองค์หญิงหรือบุตรสาวของเจ้านายชั้นสูงไปแต่งงานกับหัวหน้าเผ่านอกด่าน จนเกิดเป็นตำนานของหวังเจาจวิน (หนึ่งในนางงามเลื่องซื่อของจีน)
ในรัชสมัยฮั่นหยวนตี้ กลุ่มขุนนางที่ไม่มีเชื้อสายชนชั้นสูง (พวกชนชั้นกลาง) มีอำนาจมากขึ้น ระบอบการปกครองล้มเหลว เกิดการขัดแย้งทางชนชั้นและการลุกฮือของกบฏชาวนาอยู่เสมอ เมื่อถึงรัชสมัยฮั่นเฉิงตี้ กลุ่มตระกูลหวังซึ่งเป็นญาติฝ่ายพระมารดาของเฉิงตี้เข้ากุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้ ตระกูลหวังมีพี่น้อง 4 คนและหลานชายชื่อหวังหมั่ง (ออง มัง ที่กล่าวถึงใน สามก๊ก) เข้ารวบตำแหน่งหัวหน้าทางการทหารและพลาธิการไว้ได้ อีกทั้งยังร่ำรวยทรัพย์สินมหาศาล
พอล่วงเข้ารัชสมัยฮั่นอัยตี้ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกก็ถูกกบฏชาวนาสั่นคลอนราชบัลลังก์จนแทบไม่อาจยืนหยัดต่อไปได้ หวังหมั่งนำความคิดเรื่อง ‘สืบทอดบัญชาสวรรค์’ มาใช้เพื่อการแก้ไขวิกฤตอีกครั้ง แต่ก็ต้องประสบกับความล้มเหลว เมื่อฮั่นผิงตี้ขึ้นครองบัลลังก์ หวังหมั่งกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งจึงเร่งกำจัดศัตรูทางการเมืองขนานใหญ่ รวมทั้งจัดตั้งสมัครพรรคพวก หาทางซื้อใจประชาชนและปัญญาชน เพื่อสนับสนุนฐานอำนาจแห่งตน เมื่อฮั่นผิงตี้สิ้นพระชนม์ลง หยูจื่ออิง ซึ่งยังเป็นเด็กขึ้นครองราชย์ต่อมา หวังหมั่งเห็นเป็นโอกาส จึงถอดถอนหยูจื่ออิง แล้วตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ (ค.ศ. 8-23)นับแต่นั้น ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกก็ถึงกาลล่มสลาย
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ชนชาติจีน เป็นยุคสมัยที่ก่อเกิดศูนย์รวมทางจิตใจของความเป็นชนชาติจีน หรือที่ต่อมาเรียกกันว่าชาวฮั่น หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์จีนที่สามารถรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งแล้ว ในสมัยจั้นกว๋อ การสู้รบระหว่างแว่นแคว้นต่าง ๆได้ทำให้เกิดการหล่อหลอมวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆเข้าด้วยกัน เมื่อถึงสมัยฮั่นตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครอง ภาษาอักษร การศึกษาวัฒนธรรม ขนบประเพณีต่างก็ได้รับการกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมกันที่เรียกว่า‘วัฒนธรรมของชนชาติฮั่น’นับแต่นั้นมา
Silph
# 9
[ 24-03-2007 - 22:44:56 ]
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ยุคก่อนสามก๊ก)
นับแต่หวังหมั่ง ถอดถอนหยูจื่ออิง ยุวกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ โดยจัดระเบียบการปกครองใหม่และก่อตั้งราชวงศ์ซิน ขึ้น แต่ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง ที่นำโดยฝานฉง จากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว (เล่า สิ้ว ใน ตั้งฮั่น) จากหูเป่ย เป็นต้นโดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด
ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน เมื่อถึงกลางปีคริสตศักราช 25 หลิวซิ่วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองดินแดนเหอเป่ย ภายใต้สมญานามว่า กวงอู่ตี้ ( พระเจ้า ฮั่น กอง บู๊) และใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นตามเดิม โดยทางประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคนี้เป็นฮั่นตะวันออก
เนื่องจากนครหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยัง(ลกเอี๋ยง) ภารกิจแรกของกวงอู่ตี้คือการปราบกองกำลังคิ้วแดงที่กำลังปิดล้อมเมืองฉางอัน (เตียงอั๋น) เมื่อถึงปีรัชสมัยที่ 12 ก็สามารถปราบก๊กของกงซุนซู่ในเสฉวนลงอย่างราบคาบ รวมประเทศจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง จากนั้นตามมาด้วยประกาศปลดปล่อยแรงงานทาส ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยแรงงานการผลิตครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังซ่อมสร้างการชลประทานทั่วประเทศ รื้อฟื้นภาคการเกษตรให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อถึงรัชสมัยหมิงตี้ ก็ยกเลิกการผูกขาดการค้าเกลือและเหล็กกล้า อีกทั้งธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจหลอมและหล่อทองแดง ธุรกิจผ้าไหมเป็นต้น ทำให้บ้านเมืองและการค้าขายในยุคฮั่นตะวันออกเจริญรุ่งเรืองขึ้น เมืองลั่วหยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ ส่วนศูนย์กลางทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองหยังโจว จิงโจว อี้โจว ก็มีความเจริญในด้านธุรกิจหัตถกรรม จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในรัชสมัยจางตี้ และเหอตี้ ถึงกับมีการเดินทางออกไปติดต่อเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนฝั่งตะวันตก เพื่อสานต่อแนวการค้าบนเส้นทางสายไหม ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าที่ดินทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ต่างก็อยู่ในช่วงสั่งสมกำลังบารมี ภายหลังรัชสมัยเหอตี้ บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็มีอำนาจที่เข้มแข็งมากขึ้น มักปรากฏว่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางผลัดกันหรือร่วมมือกันเข้ากุมอำนาจในระหว่างการผลัดแผ่นดินอยู่บ่อยครั้ง ในสี่รัชสมัยต่อมาอันได้แก่ ซุ่นตี้ ช่งตี้ จื้อตี้และเหิงตี้ กษัตริย์ทั้ง 4 มีเชื้อพระวงศ์เหลียงจี้ คอยเป็นที่ปรึกษาว่าราชการให้ถึง 20 ปี ภายหลังยุคกลางของฮั่นตะวันออก กลุ่มครอบครัวตระกูลใหญ่เข้ากุมอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดสภาพเป็นขั้วการเมืองแบบผูกขาด เมื่อถึงยุคปลายของฮั่นตะวันออก ได้เกิดกระแสการวิพากษ์การเมืองจากกลุ่มปัญญาชนและขุนนางผู้น้อยส่วนหนึ่ง ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยนั้น จนเกิดวิกฤตทางการเมือง หลังสิ้นรัชสมัยเหิงตี้ เหล่าขุนนางก็ยิ่งฮึกเหิมในอำนาจ ถึงกับมีการซึ้อขายตำแหน่งทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย อำนาจบ้านเมืองล่มสลาย สังคมเต็มไปด้วยคนจรไร้ถิ่นฐาน เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
เมื่อถึงรัชสมัยหลิงตี้ (พระเจ้าเลนเต้..เริ่มเรื่องสามก๊ก) เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือ เข้าล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนท้ายสุดหลงเหลือเพียง 3 กลุ่มอำนาจใหญ่นั่นคือ วุ่ย(โจโฉ) สู(หรือ สูฮั่น ของเล่าปี่) และอู๋(หรือ ง่อ ของซุน กวน)
ในช่วงกลางของฮั่นตะวันออก มีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง จางเหิง ซึ่งเป็นทั้งนักคิด นักกวี และนักวิชาการ โดยเขาได้คิดประดิษฐ์เครื่องวัดตำแหน่งดวงดาวและเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่สามารถใช้ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย ในรัชสมัยเหอตี้ ก็ยังมีไช่หลุน ผู้ซึ่งได้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตกระดาษจากพืช ซึ่งทำให้ราคากระดาษถูกลง และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อชาวโลกครั้งยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ องค์ความรู้ต่าง ๆในด้านการเกษตร การคำนวณและการแพทย์ ต่างก็ประสบความก้าวหน้าใหญ่ ศาสนาพุทธและเต๋าที่ทรงอิทธิพลล้ำลึกทางความคิด วัฒนธรรมและวิถีชีวิตในสังคมจีน ก็ล้วนเจริญรุ่งเรืองขึ้นในยุคนี้เอง
Silph
# 10
[ 24-03-2007 - 22:46:34 ]
สามก๊ก (เรื่องราวช่วงนี้เป็นที่รู้จักมากที่สุด มีการทำเป็นนิยายมากมายหลายเรื่องเลยล่ะ)
ปีค.ศ. 189 ปลายยุคฮั่นตะวันออก ฮั่นหลิงตี้ เสด็จสวรรคต รัชทายาทหลิวเ
+++
ยน (เล่า เปียน) สืบทอดราชบัลลังก์ต่อมาเป็นฮั่นเส้าตี้ แต่พี่ชายของเหอไทเฮาคบคิดกับขุนนางฝ่ายกลาโหมหยวนเส้าหรืออ้วนเสี้ยว กวาดล้างขุนนางที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสายอย่างหนัก ต่งจัวหรือตั๋งโต๊ะ ที่เป็นขุนนางครองเมืองปิงโจวใช้สถานการณ์วุ่นวายดังกล่าว เป็นข้ออ้างยกกองกำลังเข้าลั่วหยังเพื่อให้ความช่วยเหลือ เมื่อกองทัพของตั๋งโต๊ะเข้าสู่ลั่วหยังแล้ว ก็ถอดถอนฮั่นเส้าตี้และสถาปนาหลิวเสีย (เล่า เ
+++
ยบ) ผู้เป็นน้องขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนามว่า ฮั่นเสี้ยนตี้ (พระเจ้า
+++
นเต้) โดยตั๋งโต๊ะกุมอำนาจสั่งการไว้ในมือ เป็นเหตุให้ขุนนางเก่าที่ไม่เห็นด้วยลุกฮือขึ้นต่อต้าน เกิดเป็นสงครามภายในติดตามมา ฝ่ายอ้วนเสี้ยวนั้น เมื่อตั๋งโต๊ะกรีฑาทัพเข้าลั่วหยัง ก็หลบหนีไปยังเมืองจี้โจว เรียกร้องให้บรรดาผู้ครองแคว้นรอบนอกรวมกำลังกันเพื่อปราบตั๋งโต๊ะ ซึ่งก็ได้รับเสียงสนับสนุนให้อ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำ เมื่อถึงปีค.ศ. 190 ตั๋งโต๊ะบีบบังคับฮั่นเสี้ยนตี้เสด็จลี้ภัยไปยังนครฉางอัน ในขณะที่กองกำลังของตั๋งโต๊ะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจกัน อีก 3 ปีต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการทหาร (ตรงนี้น่าจะเป็นการทรยศของ ลิโป้เอง เพราะเท่าที่ค้นดู รู้สึกว่า เตียว เสี้ยน จะไม่มีจริง ดังนั้เรื่องยุทธการสาวงาม น่าจะเป็นเรื่องแต่งขึ้น) ตั๋งโต๊ะถูกสังหาร บ้านเมืองจึงเกิดโกลาหลครั้งใหญ่ ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ เฉาเชาหรือโจโฉ ซึ่งเคยประกาศตัวเป็นแนวร่วมกับอ้วนเสี้ยวเมื่อครั้งต่อต้านตั๋งโต๊ะนั้น หลังจากสยบกองกำลังโพกผ้าเหลืองกว่าสามแสนไว้ได้แล้ว ก็สั่งสมอำนาจขึ้นเป็นใหญ่ในดินแดนเหอหนัน ปีค.ศ. 196 บีบบังคับให้ฮั่นเสี้ยนตี้เสด็จย้ายที่ประทับไปยังเมืองสวี่ชาง(ฮูโต๋)ในเหอหนันแล้ว ก็เข้ากุมอำนาจสั่งการเหล่าขุนนางทั้งปวง และหันมาประจันหน้ากับฝ่ายอ้วนเสี้ยวที่เป็นใหญ่ในแถบเหอเป่ย เมื่อถึงปีค.ศ. 200 สองฝ่ายทำศึกตัดสินแพ้ชนะที่กวนตู้ (กัวต๋อ) โจโฉเป็นฝ่ายชนะเข้าครองที่ราบภาคกลางและภาคเหนือของจีนไว้ได้
เมื่อถึงปีค.ศ. 208 โจโฉกรีฑาทัพลงใต้ ปราบหลิวเปี่ยว (เล่า เปียว) ที่ครองเมืองจิงโจวในขณะนั้น หลิวเป้ยหรือเล่าปี่ ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของฮั่นอาศัยอยู่ด้วยหลิวเปี่ยวต้องอพยพลงใต้อีกครั้ง นำกำลังที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดร่วมมือกับซุนเฉวียนหรือซุนกวน ที่คุมอำนาจอยู่ในเจียงตง และแล้วด้วยปัญญาของจูเก๋อเลี่ยงหรือจูกัดเหลียง(ขงเบ้ง) ที่เป็นมันสมองฝ่ายเล่าปี่และกำลังทหารจากซุนกวนผนึกกำลังต้านทัพใหญ่ของโจโฉในการศึกที่ชื่อ
+++
(เซ็ก เพ็ก) ผลคือโจโฉพ่ายแพ้ย่อยยับ จำต้องล่าทัพกลับไปภาคเหนือ ขณะที่เล่าปี่ฉวยโอกาสเข้ายึดจิงโจวกลับคืนมา อีกทั้งเข้ายึดเฉิงตูเป็นที่มั่น ก่อเกิดเป็นสภาพขุมกำลังสามเส้าคานอำนาจกัน อันเป็นที่มาของยุคสมัยสามก๊ก
โจโฉตั้งตัวเป็นวุ่ยอ๋อง ต่อมาปีค.ศ. 200 โจโฉสิ้นชีวิต เฉาผี่หรือโจผี ผู้เป็นบุตรชายจึงบีบบังคับให้ฮั่นเสี้ยนตี้สละราชบัลลังก์ แล้วสถาปนารัฐวุ่ยขึ้น ในปีถัดมา เล่าปี่ก็ประกาศสถาปนาตั้งตนเป็นฮ่องเต้ที่เมืองเฉิงตู ใช้ชื่อรัฐฮั่น (โดยมากเรียกสูหรือสูฮั่น) ถึงปีค.ศ. 229 ซุนกวนหรืออู๋อ๋องก็ตั้งรัฐอู๋ ประกาศตนเป็นฮ่องเต้เช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดเป็นขุมกำลังสามเส้า กล่าวคือ วุ่ยครอบครองดินแดนทางตอนเหนือ สูครองดินแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนอู๋ครองดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ โดยสองแคว้นทางใต้ คือรัฐสูร่วมมือกับรัฐอู๋ต่อต้านรัฐวุ่ยทางภาคเหนือที่มีกำลังเข้มแข็งที่สุด
Silph
# 11
[ 24-03-2007 - 22:47:39 ]
รัฐวุ่ย (วุย)
ที่นำโดยโจโฉ ซึ่งเริ่มจากการฟื้นฟูผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการเกณฑ์กำลังทหารที่ประจำในท้องที่ทำการเพาะปลูกเป็นเสบียงต่อไป จัดการปฏิรูประบบการปกครองที่เคยเป็นจุดอ่อนของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก นั่นคือ จำกัดอำนาจของเหล่าเจ้าที่ดิน กวาดล้างอำนาจของบรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์ เพื่อดึงดูดการเข้าร่วมจากกลุ่มชนชั้นระดับกลางและล่าง มีการแบ่งขุนนางปกครองท้องถิ่นออกเป็น 9 ระดับชั้น เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากตระกูลสูงได้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง(เอาชนชั้นกลางมาเป็นฝ่ายตน เพราะชนชั้นสูงอยู่ฝ่าย
+++
นเต้) ด้านศิลปะและวิทยาการนั้นก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก อาทิ ทางการแพทย์จีนได้ปรากฏบุคคลสำคัญคือ หัวถัวหรือแพทย์วิเศษฮูโต๋ ที่เป็นเอกในการผ่าตัด (อันนี้ไม่รู้จริงหรือเปล่า เพราะในนิยายสามก๊ก เขาสามารถผ่าสมองได้ด้วย) และกล่าวกันว่ายังมีการเริ่มใช้ยาชา(อันนี้จริง เป็นหญ้าชนิดนึง ชื่อ หญ้าหมาเฟย)ในสมัยนี้อีกด้วย สำหรับด้านศาสนานั้น เนื่องจากลัทธิเต๋าของกองกำลังโพกผ้าเหลืองประสบความพ่ายแพ้ทางการเมือง จึงตกอยู่ในภาวะอ่อนแอลง ขณะที่ศาสนาพุทธที่มีการเผยแพร่เข้ามาในช่วงปลายยุคฮั่นตะวันออก ก็ฟูมฟักตัวเองในนครหลวงลั่วหยัง
หลังจากวุ่ยฉีหวัง (พระเจ้าโจฮวน) ยุวกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ศูนย์กลางอำนาจในรัฐวุ่ยก็เริ่มคลอนแคลน เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของเฉาส่วง (โจ อะไรซักอย่าง...จำมะได้) และซือหม่าอี้ (สุมาอี้) ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เฉาส่วงพ่ายแพ้ถูกสำเร็จโทษ ตระกูลซือหม่าซึ่งนำโดยซือหม่าอี้ผู้เป็นบิดา ซือหม่าซือ (สมาสู) และซือหม่าเจา(สุมาเจียว) สองคนพี่น้อง เข้ากุมอำนาจทางการเมืองทั้งหมดไว้ได้ ระหว่างนั้น ในปีค.ศ. 263 รัฐวุ่ยภายใต้การนำทัพของตระกูลซือหม่าบุกเข้าปราบรัฐสู ของเล่าปี่ หลังจากนั้น 2 ปี ซือหม่าเอี๋ยน (สุมาเอี๋ยน) บุตรของซือหม่าเจาก็บีบให้วุ่ยฉีหวังสละราชบัลลังก์ และสถาปนาราชวงศ์จิ้น ขึ้นแทนวุ่ย
Silph
# 12
[ 24-03-2007 - 22:48:25 ]
รัฐสู (ฮั่น หรือจ๊ก)
นำโดยเล่าปี่ ก็ได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาและเสนาบดี ในช่วงเวลาก่อนหลังการสถาปนารัฐสูได้ไม่นาน เล่าปี่ก็ต้องสูญเสียขุนพลคู่ใจคนสำคัญ คือ กวนอวี่หรือกวนอู และจางเฟยหรือเตียหุย ไปในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นเหตุให้กำลังทางทหารอ่อนโทรมลง อีกทั้งเล่าปี่ไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าเสนาอำมาตย์ เร่งทำศึกกับรัฐอู๋ เพื่อแก้แค้นให้กับกวนอู สุดท้ายพ่ายแพ้ย่อยยับ เล่าปี่ล้มป่วยเสียชีวิตที่เมืองหย่งอัน บุตรชายหลิวฉานหรืออาเต๊า(เล่าเสี้ยน) ขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยมีขงเบ้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ขงเบ้งเห็นว่ารัฐสูอยู่ในสภาพอ่อนแอและลำบากจากการคุกคามรอบข้าง พร้อมกันนั้นเขตพื้นที่ทางตอนใต้ (ปัจจุบันคือเสฉวนและยูนนานของจีน) เกิดความวุ่นวาย จึงต้องเจรจาสงบศึกกับรัฐอู๋ เมื่อถึงปีค.ศ. 225 ขงเบ้งยกทัพลงใต้ ทำศึกพิชิตใจเมิ่งฮั่ว(เบ้งเฮ็ก) หัวหน้าชนเผ่าพื้นเมือง นำความสงบสุขคืนมาอีกครั้ง หลังจากนั้น ขงเบ้งได้แต่งตั้งชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วนเข้ารับราชการและกองทัพ อีกทั้งมีการนำวัวและม้าที่เป็นพาหนะพื้นเมืองเข้ามาใช้ในกองทัพอีกด้วย นับแต่นั้นมา ความสัมพันธ์กับชนเผ่าพื้นเมืองทางตอนใต้ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันภาคการเกษตรและหัตถกรรมได้รับการฟื้นฟูก้าวหน้า บ้านเมืองเข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมรับการทำศึกกับก๊กวุ่ยทางตอนเหนือในอีกหลายปีต่อมา ขงเบ้งที่เร่งทำศึกแย่งชิงดินแดนภาคเหนือกับก๊กวุ่ยเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายล้มป่วยเสียชีวิตกลางคัน ก๊กสูต้องถอยทัพกลับ นับแต่นั้นมาก๊กสูก็จำต้องพลิกสถานะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ สุดท้ายในปีค.ศ. 263 ก๊กวุ่ยยกทัพเข้ารวมก๊กสูเป็นผลสำเร็จ
Silph
# 13
[ 24-03-2007 - 22:49:15 ]
ก๊กอู๋ (ง่อ)
เมื่อครั้งกองกำลังโพกผ้าเหลืองลุกขึ้นก่อการจราจล ซุนเจี้ยน(ซุนเกี๋ยน) ที่เป็นขุนนางมีหน้าที่เข้าปราบปรามในพื้นที่เขตเจียงหนัน(กังหนำ-กังตั๋ง) เมื่อครั้งอ้วนเสี้ยวและพวกร่วมมือปราบตั๋งโต๊ะ ซุนเจียนก็เข้าร่วมด้วย ต่อมาเมื่อซุนเจียนเสียชีวิต ซุนเช่อ(ซุน เซ็ก) บุตรชายเข้าคุมกองทัพต่อ ปี 194ได้รับความช่วยเหลือจากโจวอวี่หรือจิวยี่ เสริมกำลังทางทหารให้เข้มแข็งขึ้น เริ่มขยายอำนาจออกสู่เจียงตงทางตะวันออกของลุ่มน้ำแยงซี ต่อมาเมื่อโจโฉเข้าควบคุมฮั่นเสี้ยนตี้ไว้ได้ ซุนเช่อก็หันมาเข้ากับโจโฉ และได้รับการอวยยศเป็นอู๋โหว หลังจากซุนเช่อสิ้น ซุนเฉวียนหรือซุนกวน ผู้เป็นน้องชายก็เข้าสืบทอดอำนาจต่อมา ภายหลังการศึกที่ชื่อ
+++
เป็นเหตุให้โจโฉต้องถอยร่นกลับไปยังภาคเหนือ ซุนกวนก็เข้าคุมพื้นที่เขตตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้ เกิดเป็นกองกำลังสามเส้าต่างคุมเชิงกัน
ปัญหาที่ก๊กอู๋ต้องเผชิญคือ ต้องคอยป้องกันชาวเขาเผ่าเยว่ ที่คอยก่อความไม่สงบ และมีแรงกดดันจากกองกำลังของก๊กวุ่ยทางตอนเหนือ ในปีค.ศ. 234 ภายหลังดำเนินยุทธการปิดล้อม ทำให้ชาวเขาเผ่าเยว่วางอาวุธยอมแพ้ จากนั้นมา ชาวฮั่นและชาวเผ่าเยว่ก็มีการหลอมรวมทางชนชาติเข้าด้วยกัน สำหรับปัญหากองกำลังของก๊กวุ่ยที่กดดันอยู่ทางตอนเหนือ ก็มีการผลัดกันรุกรับ หลังจากขงเบ้งเสียชีวิตและก๊กวุ่ยปราบก๊กสูลงได้แล้ว ก๊กวุ่ยก็เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อก๊กอู๋มากขึ้น แต่เนื่องจากความสามารถทางน้ำของกองทัพก๊กวุ่ยมีจำกัด การสู้รบจึงยืดเยื้อยาวนานต่อมาอีกหลายปี
ในช่วงเวลา 52 ปีของการสถาปนารัฐวุ่ยนี้ ได้มีการบุกเบิกที่ดินทำการเกษตร การเมืองการปกครองก็มั่นคงมีเสถียรภาพ ดินแดนแถบเจียงหนันได้มีการพัฒนาด้านกิจการต่อเรือและการขนส่งทางน้ำอย่างมาก แม่น้ำสายต่าง ๆได้รับการเชื่อมต่อจนกลายเป็นเส้นทางการคมนาคมสายหลักจากตะวันออกสู่ดินแดนทางตอนใต้ ถึงกับมีการเดินเรือขึ้นเหนือถึงเหลียวตง ทิศใต้ล่องถึงหนันไห่หรือเขตทะเลใต้ เมื่อถึงปีค.ศ. 230 ได้มีคณะเดินเรือไปถึงเกาะไต้หวันเป็นครั้งแรกเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ราชทูตจากรัฐอู๋ยังเดินทางล่องใต้ลงไปจนถึงแถบทางตอนใต้ของเวียดนามและอาณาจักรฟูนัน(กัมพูชาในปัจจุบัน) เป็นต้น ได้มีการเผยแพร่ของพุทธศาสนาจากลั่วหยังลงสู่ดินแดนทางตอนใต้ พร้อม ๆกับลัทธิเต๋า
หลังจากซุนกวนเสียชีวิตในปีค.ศ. 252 รัฐอู๋ก็อ่อนแอลง ในขณะที่ก๊กวุ่ยที่นำโดยตระกูลซือหม่านับวันจะมีกองกำลังเข้มแข็งขึ้น หลังจากรวมก๊กสูเข้าไว้ในปีค.ศ. 263 และผลัดแผ่นดินสถาปนาราชวงศ์จิ้นในปีค.ศ. 265 ราชวงศ์จิ้นต้องวุ่นวายอยู่กับการวางรากฐานการปกครองให้กับราชวงศ์ใหม่ เป็นเหตุให้รัฐอู๋ยังสามารถประคองตัวมาได้อีกระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงปีค.ศ. 269 จิ้นที่ได้ผู้เชี่ยวชาญทางน้ำจากรัฐสู เริ่มฝึกกองกำลังทางน้ำ เมี่อถึงปี ค.ศ. 279 กองทัพจิ้นก็ยกประชิดอู๋ทางตอนเหนือของลำน้ำแยงซี และสามารถเข้าถึงเมืองหลวงเจี้ยนเย่ได้ในปีค.ศ. 280 รัฐอู๋ก็ถึงกาลล่มสลาย
ในยุคสามก๊กนี้ถึงแม้ว่าจะมีการศึกสงครามอยู่เสมอ แต่สภาพบ้านเมืองยังมีความแตกต่างจากความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เนื่องจากเป็นสงครามที่ประชาชนต่างก็มุ่งหวังให้มีการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ทางด้านกำลังทหารแล้ว ต้องถือว่าก๊กวุ่ยเข้มแข็งที่สุด รองลงมาคืออู๋ จากนั้นเป็นสูอ่อนแอที่สุด ดังนั้นภาระการรวมแผ่นดินสุดท้ายจึงตกอยู่ที่วุ่ยหรือจิ้น หากนับตามช่วงเวลาของการอยู่ในอำนาจแล้ว ก๊กอู๋อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดถึง 52 ปี รองลงมาคือก๊กวุ่ย 45 ปี และสุดท้ายคือก๊กสู 43 ปี ในปีค.ศ. 280 เมื่อจิ้นอู่ตี้ (พระเจ้าสุมาเอี๋ยน) แห่งราชวงศ์จิ้นยกทัพเข้ากวาดล้างก๊กอู๋ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวแล้ว ยุคสมัยของสามก๊กก็เป็นอันสิ้นสุด
Silph
# 14
[ 24-03-2007 - 22:51:26 ]
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (สิ้นสุดยุคสามก๊ก ท้ายที่สุด ตระกูลสุมา เป็นผู้รวมแผ่นดินได้สำเร็จ)
เป็นยุคสมัยที่กลุ่มตระกูลใหญ่ก้าวเข้ามาเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูง เนื่องจากนโยบายการปกครองของซือหม่าเอี๋ยนหรือจิ้นอู่ตี้(พระเจ้าสุมาเอี๋ยน) โน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มตระกูลชนชั้นสูง (ซึ่งก็คือชนชั้นกลาง และต่ำในสมัยสามก๊ก พอมายุคนี้ก็กลายเป็นชนชั้นสูง เมื่อหนุนแซ่สุมาเป็นใหญ่สำเร็จ มันก็ต้องมีธุรกิจต่างตอบแทนกันบ้าง) อีกทั้งกฎหมายยังให้สิทธิพิเศษต่อขุนนางเจ้าที่ดิน ในการจัดสรรการถือครองที่ดินและผลประโยชน์อื่น ๆ โดยอ้างอิงจากระดับชั้นตำแหน่งขุนนาง ระเบียบเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือการเพาะสร้างอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้กับกลุ่มตระกูลใหญ่เหล่านี้ ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคมครั้งใหญ่ เพราะเพื่อรักษาสิทธิพิเศษนี้ ถึงกับตั้งข้อรังเกียจไม่ยอมนั่งร่วมโต๊ะหรือแต่งงานข้ามสายเลือดกับตระกูลที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ ทำให้ผู้อยู่นอกวงถึงแม้จะได้เข้ารับราชการก็จะยังคงถูกมองอย่างแปลกแยกและกีดกันไม่ให้ได้รับการเลื่อนขั้นในตำแหน่งสูงขึ้น ขณะที่ขุมกำลังจากตระกูลใหญ่เหล่านี้เติบโตขึ้น ข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทว่าอำนาจการปกครองจากส่วนกลางกลับอ่อนแอลง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในเวลาต่อมา
ในยุคสมัยนี้ บ้านเมืองเสื่อมโทรม กลุ่มผู้มีอำนาจใช้ชีวิตอย่างความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันและคดโกง ขณะที่คนจนถูกเรียกเก็บภาษีแพงลิบลิ่ว เหล่าปัญญาชนที่เกิดมาท่ามกลางยุคสมัยแห่งความวุ่นวายนี้ ต่างท้อแท้สิ้นหวัง พากันหลีกหนีความเป็นจริง ไม่ถามไถ่ปัญหาบ้านเมือง ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการเสพสุราและพูดคุยเรื่องราวไร้สาระ หรือเสนอแนวคิดเชิงดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นในสังคม ดังนั้นศาสตร์ในการทำนายทายทักและแนวคิดเชิงอภิปรัชญา จึงเป็นที่นิยมอย่างสูง
ขณะเดียวกัน การแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในราชสำนักก็ทวีความเข้มข้นขึ้น อำนาจในการปกครองของฝ่ายราชสำนักตกอยู่ในภาวะวิกฤต จิ้นอู่ตี้เนื่องจากได้รับบทเรียนจากราชวงศ์วุ่ยที่ไม่ได้จัดสรรอำนาจให้เชื้อพระวงศ์เป็นเหตุให้ราชวงศ์จิ้นซึ่งอยู่ในตระกูลอื่นเข้าฉกฉวยอำนาจได้โดยง่าย ดังนั้น เพื่อรักษาพระราชอำนาจของตนไว้ จึงทรงอวยยศเหล่าเชื้อพระวงศ์ขึ้นเป็นอ๋อง ให้อำนาจในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางทหารของกลุ่มอำนาจภายนอก ทำให้เชื้อพระวงศ์เหล่านี้สามารถบัญชาการกำลังทหารจำนวนไม่น้อย เมื่อถึงสมัยของจิ้นฮุ่ยตี้ การอวยยศซึ่งแต่เดิมมีจุดมุ่งหมายเพื่ออารักขาฐานอำนาจของราชสำนัก กลับเป็นบ่อเกิดของข้อขัดแย้งในการแบ่งลำดับขั้นการบริหาร ทำให้ภายในราชสำนักเกิดการแย่งชิงอำนาจครั้งใหญ่ บรรดาอ๋องพระราชทานต่างก็ถูกม้วนเข้าสู่วังวนแห่งอำนาจทางการเมือง
นับตั้งแต่ปี 291 เป็นต้นมา เมืองลั่วหยาง ได้เกิดเหตุจราจล ‘8 อ๋องชิงบัลลังก์’ อ๋องทั้ง 8 ได้แก่ อ๋องเลี่ยง อ๋องเหว่ย อ๋องหลุน อ๋องจ่ง อ๋องหยิ่ง อ๋องอี้ อ๋องหยงและอ๋องเย่ว์ ต่างยกกำลังเข้าห้ำหั่นกันเกิดเป็นสงครามภายในขึ้น เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองครั้งนี้กินเวลาถึง 16 ปี ทหารและพลเรือนลัมตายนับแสน หลายเมืองถูกทำลายล้างยับเยิน เป็นเหตุให้ราชวงศ์จิ้นตะวันตกที่แต่เดิมก็ไม่ได้มีผลสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจมากนักอยู่แล้ว กลับยิ่งต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างสาหัส สุดท้ายจิ้นฮุ่ยตี้ถูกวางยาสิ้นพระชนม์ บรรดาอ๋องต่างฆ่าฟันกันจนสิ้นเรี่ยวแรง...
นับแต่สมัยฮั่นตะวันออกเป็นต้นมา ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในในแถบชายแดนภาคตะวันตกและภาคเหนือก็ได้ทยอยอพยพเข้าสู่แผ่นดินจีน เมื่อถึงปลายราชวงศ์วุ่ยและจิ้น เนื่องจากเกิดภาวะแรงงานขาดแคลนจึงมักมีการกวาดต้อนชนกลุ่มน้อยจำนวนมากเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศ ชนเผ่าต่าง ๆเมื่อเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาว จึงได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่น ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่แต่เดิมเป็นปศุสัตว์เร่ร่อน หันมาทำไร่ไถนา บ้างก็ได้รับการศึกษา เข้ารับราชการ ต่อมาเนื่องจากได้รับการบีบคั้นจากการปกครองของเจ้าที่ดินชาวฮั่น และการรีดเก็บภาษีขั้นสูง ทำให้ความสัมพันธ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น จนในที่สุด พากันลุกขึ้นต่อต้านการปกครองจากส่วนกลาง
โดยกลุ่มที่เริ่มทำการก่อนได้แก่กลุ่มขุนศึกของชนเผ่าต่าง ๆในช่วงปลายของจลาจล 8 อ๋อง ขณะที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผู้นำของแต่ละกลุ่มต่างทยอยกันเสียชีวิตในการศึก หัวหน้าของชนเผ่าซงหนูหลิวหยวน ก็ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ โดยใช้ชื่อว่าฮั่นกว๋อ(อันนี้ผมงงมักๆ เป็นเผ่าซงหนู แต่แซ่เล่า แถมตั้งชื่อก๊กตนว่า ฮั่น อีกตะหาก..ผู้รู้ตอบด้วย) ภายหลังหลิวหยวนสิ้น บุครชายชื่อหลิวชง ยกกำลังเข้าบุกลั่วหยางนครหลวงของจิ้นตะวันตก จับจิ้นหวยตี้ เป็นตัวประกันและสำเร็จโทษในเวลาต่อมา โดยเชื้อพระวงศ์ทางนครฉางอันเมื่อทราบเรื่องก็ประกาศยกให้จิ้นหมิ่นตี้ ขึ้นครองบัลลังก์สืบทอดราชวงศ์จิ้นต่อไปทันที ประชาชนที่หวาดเกรงภัยจากสงครามทางภาคเหนือ ต่างพากันอพยพลงใต้ จวบถึงปี 316 กองกำลังของชนเผ่าซงหนูบุกเข้านครฉางอัน จับกุมจิ้นหมิ่นตี้ เพื่อรับโทษทัณฑ์ จิ้นตะวันตกจึงถึงกาลล่มสลาย ราชวงศ์จิ้นตะวันตกอยู่ในอำนาจรวม 51 ปี มีกษัตริย์เพียง 4 พระองค์ และเป็นราชวงศ์เดียวในยุคสมัยวุ่ยจิ้นเหนือใต้(คริสตศักราช 220 – 589)ที่มีการปกครองแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว
Silph
# 15
[ 24-03-2007 - 23:00:41 ]
จิ้นตะวันออก (คริสตศักราช 317 – 420) (นิยายที่ดังๆ ในช่วงเวลานี้ ได้แก่ จอมคนแผ่นดินเดือด ที่กำลังขายอยู่ช่วงนี้ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงตั้งแต่ปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก (จีนตอนใต้) / ยุค 16 แคว้นห้าชนเผ่า (จีนตอนเหนือ) ไปถึงต้นราชวงศ์เหนือใต้ เป็นเรื่องราวของทัวปากุย (ผู้นำเผ่าเซียนเปยที่รวมแผ่นดินจีนตอนเหนือได้สำเร็จ), หลิวอวี้ (สามัญชนผู้กลายเป็นกษัตริย์แดนใต้ ผู้รวมแผ่นดินจีนตอนใต้เป็นปึกแผ่น) กับเอี้ยนเฟย (ตัวละครสมมติ) พระเอกของเรื่องผู้ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับทัวปากุย และเป็นสหายสนิทของหลิวอวี้ด้วย สนุกมั่กๆ
(ต่อไปนี้จะระบุปีให้ชัดเจน เพราะประเทศจีนได้แบ่งเป็นหลายแคว้น...ขอให้ผู้อ่านเทียบเวลาไปด้วยนะครับ)
ราชวงศ์จิ้นตะวันออกก่อตั้งขึ้นหลังจากการอพยพโยกย้ายราชธานีของเหล่าข้าราชสำนักจิ้นลงสู่ภาคใต้ ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก ซึ่งแม้ว่าจะยังคงนับเนื่องเป็นราชวงศ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โบราณของจีน แต่แท้จริงแล้ว ขอบข่ายอำนาจการปกครองเพียงสามารถครอบคลุมดินแดนทางตอนใต้ของลำน้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)เท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บ้านเมืองทางตอนเหนือระส่ำระสายไปด้วยไฟสงครามการแย่งชิงของแว่นแคว้นต่าง ๆภายใต้การนำของกลุ่มชนเผ่าจากนอกด่าน รวมทั้งชาวฮั่นเอง สถานการณ์ความแตกแยกนี้ ยังคงดำเนินไปท่ามกลางการผลุดขึ้นและล่มสลายลงของราชวงศ์จิ้นตะวันออก จวบจนถึงยุคแห่งการตั้งประจันของราชวงศ์เหนือใต้ ซึ่งกินเวลากว่า 300 ปี
ปีคริสตศักราช 316 เมื่อจิ้นหมิ่นตี้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายถูกชนเผ่าซงหนูจับเป็นเชลย ราชวงศ์จิ้นตะวันตกก็ถึงกาลอวสาน บรรดาขุนนางเก่าของราชวงศ์จิ้นที่ไม่ยอมรับในชะตากรรม ยังคงมีความเคลื่อนไหวเพื่อกอบกู้สถานการณ์อยู่ทุกหนแห่ง ในปีค.ศ. 317 ภายใต้การสนับสนุนจากเหล่าตระกูลชนชั้นสูงในจงหยวน(ที่ราบภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโห)และเจียงหนัน(ดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) ซือหม่ารุ่ย ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหลางหย่าหวัง จึงตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จิ้นสืบต่อมา ทรงพระนามว่าจิ้นหยวนตี้ และสถาปนาเมืองเจี้ยนคัง(เมืองหนันจิงมณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) ขึ้นเป็นนครหลวง ถือเป็นจุดเริ่มของจิ้นตะวันออก
จิ้นตะวันออกถึงแม้จะย้ายเมืองหลวงมายังแดนเจียงหนัน(กังหนำ-กังตั๋ง) ทางตอนใต้ของจีน แต่เนื่องจากยังคงมีการสืบราชบัลลังก์ต่อมา จึงคงมีความมุ่งหวังที่จะรวมแผ่นดินทางตอนเหนือกลับเข้ามาอีกครั้ง ตลอดยุคสมัยนี้ มีขุนศึกที่อาสายกทัพขึ้นเหนือหลายครั้ง จู่ถี้ปราบอุดรก็เป็นครั้งหนึ่งของความพยายามในการรวมประเทศ
จู่ถี้ แต่เดิมอยู่ในกลุ่มตระกูลใหญ่จากทางเหนือ ระยะแรกเมื่ออพยพลงสู่ใต้นั้น เนื่องจากยังมีสมัครพรรคพวกและประชาชนที่ภักดีอยู่ทางเหนือ จึงเห็นว่าการยกทัพขึ้นเหนือมีโอกาสประสบชัยอย่างมาก ดังนั้น ก่อนการประกาศก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันออก จึงขอการสนับสนุนจากซือหม่ารุ่ยหรือจิ้นหยวนตี้ในเวลาต่อมา เพื่อปราบกบฏฝ่ายเหนือ ซือหม่ารุ่ยแต่งตั้งจู่ถี้เป็นเจ้าเมืองอี้ว์โจว แล้วมอบเสบียงให้จำนวนหนึ่ง จู่ถี้นำกำลังข้ามแม่น้ำไป (เหนือใต้ของจีนกางกั้นด้วยแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียง) สะกดทัพของสือเล่อ อีกทั้งเข้ายึดดินแดนส่วนหนึ่งของแม่น้ำหวงเหอหรือฮวงโหที่อยู่เหนือขึ้นไปไว้ได้ ขณะนั้นเอง ราชสำนักทางตอนใต้เกิดกบฏหวังตุน เป็นเหตุให้การยกทัพขึ้นเหนือของจู่ถี้ต้องหยุดชะงักไป จู่ถี้ยามโกรธแค้นถึงกับล้มป่วยและเสียชีวิตลงในปี 321 จากนั้นสือเล่อเข้าโจมตีเอาดินแดนเหอหนันกลับคืนไปได้ แผนการรวมประเทศครั้งนี้จึงล้มเหลวลง
แม้ว่าบ้านเมืองในสมัยราชสำนักจิ้นตะวันออกที่ได้รับการค้ำจุนจากบรรดากองกำลังของตระกูลใหญ่จากจิ้นตะวันตกจะมีการพัฒนาอยู่บ้าง แต่ทว่า ภายในนั้นกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มเจ้าถิ่นที่มีอำนาจแต่เดิมกับกลุ่มอำนาจใหม่ที่โยกย้ายเข้ามา ซึ่งโดยมากฝ่ายตระกูลใหญ่จากจงหยวนเป็นผู้กุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ส่วนกลุ่มผู้นำฝ่ายใต้ถูกกีดกันจากวิถีทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการช่วงชิงระหว่างกลุ่มตระกูลใหญ่กับราชสำนัก หรือแม้แต่กลุ่มตระกูลฝ่ายเหนือด้วยกันเองก็มีการแย่งชิงที่ดุเดือดไม่แพ้กัน
ช่วงระหว่างปีคริสตศักราช 317 – 399 รัชสมัยจิ้นหยวนตี้ถึงจิ้นอันตี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์จิ้นตะวันออกมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าระหว่างนี้มีการก่อความไม่สงบบ้างประปรายแต่ก็ถูกบรรดาขุนนางและกลุ่มตระกูลใหญ่ร่วมกันกดดันให้สลายตัวไปในที่สุด พัฒนาการดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกลุ่ม 4 ตระกูลใหญ่ที่ผลัดกันขึ้นกุมอำนาจทางการเมืองในสมัยจิ้นตะวันออก อันได้แก่ ตระกูลหวัง อี่ว์ หวน เซี่ย ขณะที่กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจใด ๆ เป็นเหตุให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพคลอนแคลน ยากจะก้าวไปข้างหน้า
หลังจากจิ้นหยวนตี้สถาปนาจิ้นตะวันออกแล้ว หวังเต่า ได้เข้ากุมอำนาจบริหารการปกครองภายใน ส่วนหวังตุน ถือกำลังทหารคุมอยู่ภายนอก เป็นเหตุให้จิ้นหยวนตี้รู้สึกถึงการคุกคามจากตระกูลหวัง หลังจากจิ้นหยวนตี้เสด็จสวรรคต จิ้นหมิงตี้ ขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ปี 324 หวังตุนป่วยหนัก จิ้นหมิงตี้ฉวยโอกาสยกทัพปราบ สุดท้ายหวังตุนป่วยหนักเสียชีวิต กองกำลังที่เหลือถูกกวาดล้างสิ้น
เมื่อถึงรัชสมัย จิ้นเฉิงตี้ นั้น อี่ว์เลี่ยง อาศัยฐานะพระเจ้าอาเข้ากุมอำนาจทางการเมืองไว้ ขณะที่อี่ว์เลี่ยงต้องการกีดกันจู่เยว์ ที่ครองเมืองอี้ว์โจว และหวาดระแวงซูจวิ้น ที่มีความชอบจากการปราบหวังตุน เมื่อถึงปี 327 อี่ว์เลี่ยงส่งสาส์นเรียกซูจวิ้นเข้าเมืองหลวง แต่ซูจวิ้นเกรงว่าอี่ว์เลี่ยงจะหาโอกาสกำจัดตน จึงชิงร่วมมือกับจู่เยว์ยกกำลังเข้าเมืองเจี้ยนคัง ต่อมาปี 329 อี่ว์เลี่ยงปราบกบฏซูจวิ้นสำเร็จ ยึดอำนาจคืนได้ทั้งหมด
ชั่วระยะเวลาสั้น ๆที่จิ้นตะวันออกสงบลงนั้น หวนเวิน ที่ครองเมืองจิงโจวในรัชสมัยจิ้นมู่ตี้ ปี 347 ยกทัพปราบแคว้นสู (มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) จากนั้นอาสาบุกขึ้นเหนือเพื่อขยายอำนาจของตน ทำให้ราชสำนักจิ้นหวาดระแวง ต่อมาแม้ว่าภายหลังหวนเวินบุกขึ้นเหนือ 3 ครั้ง รุกคืบแล้วถูกตีกลับคืน สุดท้ายยังคงไม่อาจสำเร็จกิจการใหญ่
แม้ว่าหวนเวินล้มเหลวในการยกทัพขึ้นเหนือ แต่ยังคงสามารถยึดครองอำนาจทางการเมืองไว้ได้ จวบจนปี 373 หวนเวินล้มป่วยเสียชีวิต เซี่ยอัน ซึ่งมาจากกลุ่มทายาทตระกูลใหญ่ จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในการบริหารบ้านเมือง
เซี่ยอัน ใช้การถ่วงดุลอำนาจและประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ช่วยลดการกระทบกระทั่งของหลายฝ่ายลงได้ จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก และได้รับการยกย่องอย่างสูง ในช่วงเวลาดังกล่าวจิ้นตะวันออกจึงมีความสงบสุขในชั่วระยะเวลาหนึ่ง
จวบจนปี 382 ฝูเจียน ผู้นำแคว้นเฉียนฉิน ทางตอนเหนือ มีกำลังกล้าแข็งขึ้น จึงเรียกระดมกำลังพลครั้งใหญ่บุกลงมาทางใต้ เพื่อหวังรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งอีกครั้ง ขณะที่ทัพของฝูเจียนเต็มไปด้วยความฮึกเหิมลำพอง จิ้นตะวันออกก็เตรียมรับมือไว้พร้อมสรรพ สองทัพตั้งประจันกันที่สองฝั่งลำน้ำเฝยสุ่ย และด้วยการประสานของ เซี่ยอัน เหล่านายทัพจากกลุ่มตระกูลใหญ่ร่วมมือประสานเสริม จนในที่สุดโจมตีทัพใหญ่ของ ฝูเจี้ยน แตกพ่ายกลับไป ชัยชนะของฝ่ายใต้ครั้งนี้ ทำให้แผนการรวมประเทศต้องล้มพับไปอีกครั้ง ทางตอนใต้รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ เศรษฐกิจและสังคมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีกช่วงหนึ่ง อันเป็นปัจจัยสำคัญสู่การต่อสู้ยึดเยื้อในสงครามแย่งชิงดินแดนที่แบ่งเป็นเหนือใต้ตั้งประจันกันในเวลาต่อมา
ภายหลังการศึกที่เฝยสุ่ย ทำให้ฝ่ายเหนือแตกแยกกันอีกครั้ง ภาวะภัยคุกคามจากภายนอกของราชวงศ์จิ้นตะวันออกผ่อนคลายลง ข้อขัดแย้งจากการแบ่งชนชั้นการปกครอง การแก่งแย่งอำนาจของชนชั้นสูงและการกดขี่ขูดรีดราษฎรทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเกณฑ์แรงงาน ในรัชสมัยจิ้นมู่ตี้ ราษฎรถึงกับยอมเป็นคนพิการ เพราะเพื่อต้องการหลบเลี่ยงการเกณฑ์แรงงาน ชายหนุ่มไม่กล้าตบแต่งภรรยา เมื่อมีบุตรก็ไม่สามารถเลี้ยงดู ชาวนามากมายสิ้นเนื้อประดาตัว จำต้องละทิ้งถิ่นฐาน เพื่อหลบหนีการเกณฑ์แรงงาน
หลังการศึกทีเฝยสุ่ย ทำให้อำนาจทางการเมืองของเซี่ยอันกล้าแข็งขึ้น สะกิดความระแวงของจิ้นเขาอู่ตี้ จึงหาทางลดอำนาจของเซี่ยอัน แล้วหันไปมอบอำนาจให้กับน้องชาย ซือหม่าเต้าจื่อ หลังจากที่เซี่ยอันเสียชีวิต ซือหม่าเต้าจื่อเข้ากุมอำนาจทางการทหารแต่ผู้เดียว เปิดศึกแย่งชิงอำนาจกับกลุ่มตระกูลใหญ่อีกครั้ง ภายหลังการหักล้างอย่างดุเดือด สภาพการณ์โดยรวมจึงกลายเป็น หวนเซวียน(บุตรชายของหวนเวิน) คุมกำลังบริเวณตอนกลางของแม่น้ำฉางเจียง หลิวเหลา คุมตอนล่างของแม่น้ำ ขณะที่เกาหย่า คุมลำน้ำหวยหนัน ขอบเขตที่ราชสำนักจิ้นสามารถควบคุมจึงเหลือเพียง 8 เมือง
ปีคริสตศักราช 399 ซือหม่าหยวนเสี่ยน สั่งระดมเกณฑ์ทหาร กลับเป็นเหตุให้เกิดจราจล กลุ่มลัทธิเต๋านิกายอู๋โต่วหมี่ได้ทำการก่อหวอดขึ้น กลุ่มแรงงานทาสและชาวนาที่อดอยากต่างก็พากันมาสมทบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหมื่นแสนอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นบรรดาเจ้าที่ดินจากแดนเจียงตงทั้ง 8 เมืองที่ประสบความเสียหายจากการเกณฑ์แรงงานครั้งนี้ ก็ฉวยโอกาสลุกฮือขึ้นเช่นเดียวกัน
ราชสำนักจิ้นตะวันออกเห็นว่ากองกำลังเจียงตงแข็งกล้าขึ้น จึงยกกำลังทหารเข้าล้อมปราบ จวบจนปีค.ศ. 410 จึงถูกกำจัดสิ้น การปราบปรามจลาจลครั้งนี้ ได้ทำให้กำลังทางทหารของราชวงศ์จิ้นตะวันออกอ่อนโทรมลงอย่างมาก เหิงเซวียนที่คุมกำลังอยู่ตอนกลางของลำน้ำฉางเจียงจึงฉวยโอกาสบุกเข้านครหลวงเจี้ยนคัง ปลดฮ่องเต้จิ้นอันตี้ สังหารซือหม่าเต้าจื่อและหยวนเสี่ยนสองพ่อลูก สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้
ขณะนั้นกลุ่มตระกูลใหญ่ที่เคยให้การสนับสนุนต่อราชสำนักจิ้นตะวันออกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม หนึ่งเดียวที่สามารถเข้าต่อกรกับหวนเซวียนได้มีเพียงหลิวอี้ว์ ที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้นจากผลงานปราบแคว้นโฮ่วเอี้ยนและโฮ่วฉินจากทางเหนือ รวมดินแดนภาคใต้ที่สูญเสียไปกลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ปี 418 หลิวอี้ว์ระดมกำลังปราบหวนเซวียนแตกพ่ายไป จากนั้น ตั้งซือหม่าเต๋อเหวิน ขึ้นเป็นกษัตริย์(ฮ่องเต้หุ่น) คืนบัลลังก์ให้กับจิ้นตะวันออก จากนั้นในปี 420 บีบให้ฮ่องเต้สละราชย์ ประกาศสถาปนารัฐซ่ง แล้วตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ มีพระนามว่า ซ่งอู่ตี้ เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์จิ้นตะวันออก
เนื่องจากราชวงศ์จิ้นตะวันออกย้ายเมืองหลวงมายังเจียงหนันทางตอนใต้ เปิดโอกาสให้บรรดานักปราชญ์ผู้มีความรู้จำนวนมากเดินทางอพยพมาด้วย ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนทางใต้มากขึ้น เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมและสังคมประเพณี รวมทั้งงานฝีมือของทางเหนือและใต้ก็มีการผสมผสานกลมกลืนกัน ทำให้งานฝีมือในยุคจิ้นตะวันออกมีความก้าวหน้า นอกจากนี้ นับแต่ราชวงศ์วุ่ย ของโจโฉจากยุคสามก๊กเป็นต้นมา ประเทศจีนได้มีวิวัฒนาการด้านตัวอักษรอย่างก้าวกระโดด เมื่อถึงยุคจิ้นตะวันออก จึงกำเนิดปราชญ์ กวีและนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อมากมาย ได้มีการปฏิรูปรูปแบบการเขียนกาพย์กลอนครั้งใหญ่ วางรากฐานให้กับการวิวัฒนาการสู่ยุคทองของวรรณคดีจีนในสมัยราชวงศ์สุยและถังในเวลาต่อมา
Silph
# 16
[ 24-03-2007 - 23:04:10 ]
ยุค 16 แคว้นห้าชนเผ่า (คริสตศักราช 304-439) (เป็นช่วงเวลาเดียวกับราชวงศ์จิ้นตะวันออก (จีนตอนใต้) แต่ 16 แคว้นห้าชนเผ่าเป็นประวัติศาสตร์ของจีนตอนเหนือ) (เรื่องดังๆ ช่วงนี้ยังเป็นเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดอยู่)
การล่มสลายของจิ้นตะวันตก ทำให้แผ่นดินจีนตกอยู่ในภาวะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ราชสำนักจิ้นย้ายฐานที่มั่นทางการปกครองและเมืองหลวงลงไปทางใต้ สถาปนาราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ.317-420) ขณะที่สถานการณ์ทางตอนเหนือวุ่นวายหนัก แผ่นดินที่แตกออกเป็นแว่นแคว้น ที่ปกครองโดยชนกลุ่มน้อยจากชนเผ่าต่างๆ ผลัดกันรุกรับ ผ่านการล้มล้างแล้วก่อตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า สู่การหลอมรวมทางชนชาติครั้งใหญ่ของจีน
ความวุ่นวายในประวัติศาสตร์ยุคนี้ ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งต่อการรวมแผ่นดินจีนในอนาคต เนื่องจากจลาจลและการสู้รบอันยาวนานนี้ได้ทำให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมระหว่างชนเผ่าต่างๆ ในประเทศจีน ซึ่งส่งผลต่อการวางรากฐานอาณาจักรทางตอนเหนือของจีนในเวลาต่อมา
Silph
# 17
[ 24-03-2007 - 23:05:26 ]
ยุค 16 แคว้นห้าชนเผ่ายุคต้น -- สถาปนาชนเผ่า
ในบรรดาชนเผ่าทั้ง 5 ผู้ที่เริ่มตั้งตนเป็นอิสระก่อนได้แก่หลี่เท่อ จากชนเผ่าตี หลังจากจิ้นอู่ตี้สิ้นชีพลง บรรดาเชื้อพระวงศ์ต่างพากันแย่งชิงอำนาจกันวุ่นวาย ปีค.ศ. 298 เกิดทุพภิกขภัยแห้งแล้งหนัก ชาวบ้านที่อดอยากจากแถบมณฑลกานซู่และซานซี ต่างพากันหลบหนีลงใต้ จนถึงเขตมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มตระกูลหลี่ได้กลายเป็นผู้นำของกลุ่มอพยพนี้
ขณะที่ขุนนางท้องถิ่นพยายามบีบให้ขบวนผู้อพยพกลับไปทางเหนือ แต่เนื่องจากทางตอนเหนือเกิดจลาจล8อ๋องขึ้น อีกทั้งกลุ่มอพยพได้เห็นแล้วว่าเสฉวนอุดมสมบูรณ์กว่ามาก ดังนั้น หลี่เท่อจึงนำกลุ่มคนลุกฮือขึ้นก่อการและบุกเข้ายึดเมืองเฉิงตูไว้ได้ในปีค.ศ. 303 สถาปนาแคว้นเฉิงฮั่น จากนั้นขยับขยายอำนาจสู่เมืองรอบข้าง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาแว่นแคว้นต่าง ๆของห้าชนเผ่า
หลังจากตระกูลหลี่ลุกฮือขึ้นก่อการได้ครึ่งปี หลิวหยวน ที่มาจากกลุ่มตระกูลชั้นสูงของชนเผ่าซงหนู ซึ่งเคยเป็นข้าราชสำนักของจิ้นตะวันตกนั้น หลังจากจิ้นอู่ตี้สวรรคต เกิดจลาจลแปดอ๋อง หลิวหยวนก็รวบรวมกำลังคน ก่อตั้งแคว้นฮั่น (งงจริงๆ เผ่าซงหนู แต่แซ่เล่า ราชวงศ์ฮั่น?) ขึ้นในปี 304 สถาปนานครหลวงที่เมืองผิงหยาง(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซันซี) หลังจากหลิวหยวนสิ้น บุตรชายหลิวชง สืบทอดตำแหน่งต่อมาใน ปี 311 และปี 316 หลิวชงยกทัพบุกเมืองลั่วหยางและฉางอันตามลำดับ โค่นราชบัลลังก์จิ้นตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของแผ่นดินในขณะนั้นลง ย้ายนครหลวงไปที่เมืองลั่วหยาง รวบอำนาจทางตอนเหนือกว่าครึ่งไว้ในกำมือ
ฝ่ายราชสำนักจิ้นถอยร่นลงมาทางใต้ สถาปนาจิ้นตะวันออก (317-420) ตั้งนครหลวงขึ้นใหม่ ที่เมืองเจี้ยนคัง(เมืองหนันจิง) โดยมีพื้นที่การปกครองเพียงเขตตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในปัจจุบัน
ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ มีราษฎรจากภาคกลางจำนวนมากพากันอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังภาคตะวันตก (มณฑลกันซู่และซินเกียงในปัจจุบัน) ซึ่งดินแดนแห่งนี้อยู่ภายใต้การอารักขาของตระกูลจางที่คุมกองกำลังที่เคยอยู่ภายใต้จิ้นตะวันตกอยู่เดิม และต่อมาได้สถาปนาเป็นแคว้นเฉียนเหลียง
หลิวหยวนเดิมมีขุนพลคู่ใจสองคน คนหนึ่งคือ สือเล่อ จากชนเผ่าเจี๋ย และหลิวเย่า ซึ่งเป็นหลานชายของหลิวหยวน หลังจากหลิวชงบุตรชายหลิวหยวนสิ้นชีวิตลง หลิวเย่าก็ช่วงชิงบัลลังก์และเปลี่ยนชื่อแคว้นจากฮั่น เป็นแคว้นเจ้า หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่าฮั่นเจ้า ส่วนสือเล่อก็สถาปนาแคว้นสือเจ้า ในพื้นที่บริเวณมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบัน แคว้นเจ้าทั้งสองประดุจน้ำกับไฟ ต่างเข้าห้ำหั่นเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน จวบจนปี 328 กองทัพของสือเจ้าบุกเข้าเมืองลั่วหยาง สังหารหลิวเย่า แคว้นฮั่นเจ้าจึงจบสิ้นลง
สือเล่อยอมรับชาวฮั่นเข้ารับราชการ จัดระเบียบกฎหมาย ตั้งโรงเรียน นำระบบการเก็บภาษีอากรจากราชวงศ์จิ้นตะวันตกมาใช้ ทำให้เป็นที่ยอมรับของชาวฮั่น ถือเป็นอัจฉริยบุคคลที่หาได้ยากแห่งยุค น่าเสียดายที่อายุสั้น หลังจากสือเล่อเสียชีวิตลง สือหู่ ผู้เป็นหลานชายเข้าสืบทอดตำแหน่ง เปิดฉากฆ่าฟันลูกหลานของสือเล่อ สุดท้ายไม่พ้นกรรมสนอง ลูกหลานล้วนเป็นเผ่าพันธุ์อกตัญญู หลังจากสือหู่ตายไป แคว้นสือเจ้าวุ่นวายหนัก สือหมิ่น ชาวฮั่นที่สือหู่ให้การเลี้ยงดู หันกลับมาใช้แซ่ฮั่นของตนตามเดิม เรียกว่า หรั่นหมิ่น เข้าล้มล้างแคว้นสือเจ้า สถาปนาแคว้นหรั่นวุ่ย ในปี 350 ภายใต้คำสั่งของหรั่นหมิ่น ชาวฮั่นที่ถูกกดขี่มานานลุกฮือขึ้นกวาดล้าง ชนเผ่าเจี๋ยที่อยู่ภายในเมืองจนเกือบหมด
ชนเผ่าเจี๋ย ดิมทีมีภูมิลำเนาอยู่ทางซีอี้ว์หรือภาคตะวันตกของจีน มีความแตกต่างจากชนเผ่าอื่น ๆในบรรดาห้าชนเผ่า เนื่องจากชนเผ่าซงหนู ตี เชียง และเซียนเปย ล้วนเป็นชาวผิวเหลือง แต่ชาวเจี๋ยกลับมีจมูกโด่งเป็นสัน เบ้าตาลึกคม หนวดเครารกครึ้ม(น่าจะเป็นแขกขาว) ดังนั้นจึงง่ายต่อการแยกแยะ(เลยโดนฆ่าเกือบหมด...กรรม)
นอกจากตระกูลหลี่ที่ก่อตั้งแคว้นเฉิงฮั่นแล้ว แว่นแคว้นที่ก่อตั้งโดยชนเผ่าตีอีกแคว้นหนึ่งก็คือแคว้นเฉียนฉิน(350-394) ที่ยิ่งใหญ่จนสามารถครองแผ่นดินทางภาคเหนือของจีนเกือบทั้งหมดไว้ได้ชั่วระยะหนึ่ง แคว้นเฉียนฉินนำโดยผูหง ซึ่งแต่เดิมเข้าร่วมกับหลิวเย่าจากแคว้นฮั่นเจ้า ต่อมา ปีค.ศ. 328 แคว้นฮั่นเจ้าถูกแคว้นสือเจ้ากวาดล้าง ผูหงก็เข้าสวามิภักดิ์กับแคว้นสือเจ้า ซึ่งได้สั่งอพยพชนเผ่าตีและเชียงกว่าแสนครอบครัวเข้าสู่ส่วนกลางการปกครองของตน จากนั้นมา ชนเผ่าตีก็ได้กลายเป็นขุมกำลังทางทหารที่สำคัญของแคว้นสือเจ้า
ยุคปลายของแคว้นสือเจ้า บ้านเมืองยุ่งเหยิง ผูหงจึงเปลี่ยนมาใช้แซ่ฝู เมื่อฝูหงสิ้นชีพไป ฝูเจียน ที่เป็นบุตรชายนำทัพบุกยึดนครฉางอันคืนจากจิ้นตะวันออก และสถาปนาแคว้นเฉียนฉินในปี 351(เดิมฉางอันเป็นเมืองหลวงของแคว้นเฉิงฮั่นตั้งแต่ปี 304 จนถึงปี 347 แม่ทัพหวนเวินจากจิ้นตะวันออกยกทัพขึ้นเหนือ ล้มล้างเฉิงฮั่น ยึดเอาดินแดนเสฉวนไป)
ในบรรดาแคว้นเอี้ยน ทั้งห้านั้น ในสี่แคว้นมีเชื้อสายจากชนเผ่าเซียนเปยตระกูลมู่หรง ส่วนแคว้นเป่ยเอี้ยนนั้น เป็นแคว้นเอี้ยนเพียงหนึ่งเดียวที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวเกาหลีและชาวฮั่น แต่ก็มีที่มาจากแคว้นเอี้ยนของตระกูลมู่หรงเช่นเดียวกัน
หลังจากตระกูลมู่หรงล้มล้างแคว้นหรั่นวุ่ย เมื่อปีค.ศ. 352 แล้วก็สถาปนาแคว้นเอี้ยนหรือที่นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เฉียนเอี้ยน ครอบครองดินแดนทางภาคอีสานของจีนไว้ได้เกือบทั้งหมด ต่อมาถูกโค่นล้มโดยแคว้นเฉียนฉิน ในปีค.ศ. 370 จากนั้น แคว้นเฉียนฉินก็กวาดล้างแคว้นเฉียนเหลียง รวมดินแดนทางตอนเหนือของจีนเป็นหนึ่งเดียว(ชนเผ่าเซียนเปย เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเหลียว (ทางภาคอีสานของจีน) ดำรงชีพด้วยการทำปศุสัตว์เร่ร่อน (มีเชื้อสายของชาวมองโกลและแมนจู) ภายหลังถูกชนเผ่าซงหนูรุกราน ทำให้ต้องอพยพเข้ามายังภาคกลาง โดยแบ่งออกเป็น 2 สายใหญ่ๆ สายหนึ่งมาจากเขตต้าซิ่งอันหลิ่ง(ทางตอนเหนือของมองโกเลียในปัจจุบัน) เรียกว่าเซียนเปยเหนือ อีกสายหนึ่งเรียกว่าเซียนเปยตะวันออก มาจากเขตตงหู เมื่อตงหูพ่ายแพ้แก่ชนเผ่าซงหนู ก็อพยพเข้ามายังดินแดนภาคกลาง ต่อมาหันมาใช้แซ่ตามอย่างชาวฮั่น อาทิ ตระกูลมู่หรง ตระกูลต้วน และตระกูลอี่ว์เหวิน ล้วนมาจากเซียนเปยตะวันออก)
แคว้นเฉียนฉินนั้น หลังจากรวมภาคเหนือได้แล้ว ยังยกกำลังบุกลงใต้ เข้าต่อกรกับราชวงศ์จิ้นตะวันออก หวังรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวด้วยความฮึกเหิม แต่แล้วในปี 383 ต้องพ่ายแพ้แก่จิ้นตะวันออกในการศึกที่เฝยสุ่ย เป็นเหตุให้กลุ่มชนเผ่าอื่นๆ พากันลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบ แผ่นดินภาคเหนือแตกแยกเป็นเสี่ยงอีกครั้ง
Silph
# 18
[ 24-03-2007 - 23:06:19 ]
ยุค 16 แคว้นห้าชนเผ่ายุคหลัง - แดนมิคสัญญี
ปี 384 เหยาฉาง หัวหน้าชนเผ่าเชียง สังหารฝูเจียน ล้มล้างเฉียนฉิน สถาปนาแคว้นโฮ่วฉิน ต่อมาปี 417 ถูกจิ้นตะวันออกกวาดล้างไป
แคว้นซีฉิน สถาปนาในปี 385 โดยชนเผ่าเซียนเปย บริเวณเมืองหลันโจว ถึงปี 431 ถูกแคว้นเซี่ยทำลาย
แคว้นโฮ่วเหลียง สถาปนาในปี 386 โดยหลี่ว์กวง ชนเผ่าตี นายทัพใหญ่แห่งแคว้นเฉียนฉิน ซึ่งถูกส่งมาอารักขาดินแดนตะวันตก (แถบมนฑลกันซู่) ถูกกวาดล้างโดยโฮ่วฉินในปี 403
ฟากฝั่งตะวันตกของโฮ่วเหลียง คือแคว้นซีเหลียง สถาปนาในปี 400 โดยหลี่ซง ต่อมาถูกเป่ยเหลียง ล้มล้างในปี 420 ปีกตะวันออกที่เป็นแคว้นหนันเหลียง ก่อตั้งโดยชนเผ่าเซียนเปยในปี 397 ล้มล้างโดยแคว้นซีฉินในปี 414 ส่วนเป่ยเหลียงนั้น สถาปนาในปี 397 โดยชนเผ่าซงหนู ปี 439 ถุกกวาดล้างโดยวุ่ยเหนือ (ภายหลังเป็นราชวงศ์วุ่ยเหนือตั้งประจันกับราชวงศ์ใต้ต่อมาอีกร่วม 200 ปี)
ส่วนตระกูลมู่หรง หันกลับไปยึดดินแดนเหอเป่ย เหลียวหนิง และซานซี สถาปนาแคว้นโฮ่วเอี้ยน และซีเอี้ยนในปี 384 ต่อมาแคว้นซีเอี้ยนถูกแคว้นโฮ่วเอี้ยนล้มล้างในปี 394 จากนั้นโฮ่วเอี้ยนถูกแทนที่โดยเป่ยเอี้ยนในปี 407 ซึ่งภายหลังถูกกวาดล้างโดยวุ่ยเหนือ ในปี 436 ส่วนหนันเอี้ยนนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 398 ในแถบซานตงในปัจจุบัน และถูกล้มล้างโดยจิ้นตะวันออกในปี 410
ปี 402 จิ้นตะวันออกที่อยู่ทางตอนใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ หวนเซวียน ผู้กุมอำนาจทางทหารยึดเมืองหลวงเจี้ยนคังไว้ได้ ปลดจิ้นอันตี้ จากบัลลังก์ สถาปนาตนขึ้นเป็นใหญ่ ต่อมาปี 404 หลิวอี้ว์ บุกยึดเมืองหลวงกลับคืนมาได้ ประหารหวนเซวียนและพรรคพวก ช่วงเวลาของการโรมรันพันตูกันอยู่นั้น หลิวเฉียวจ้ง นายทัพที่ดูแลเมืองอี้โจว ฉวยโอกาสหันมาบุกเมืองเฉิงตู ตั้งตนเป็นอ๋อง สถาปนาแคว้นซีสู จากนั้นหลิวอี้ว์แห่งจิ้นตะวันออกใช้เวลา 9 ปี(405-413) เข้าปราบซีสูจนเป็นผลสำเร็จ เฉียวจ้งสิ้น แคว้นซีสูกลับคืนสู่จิ้นตะวันออก
แคว้นเซี่ย ก่อตั้งโดยเฮ่อเหลียนป๋อป๋อ จากชนเผ่าซงหนูในปี 407 (เดิมอาศัยอยู่บริเวณมองโกเลียใน) หลังจากจิ้นตะวันออกเข้ากวาดล้างแคว้นโฮ่วฉิน ในปี 417 ป๋อป๋อเข้าโจมตีทัพจิ้นแตกพ่าย ยึดนครฉางอานไว้ได้ ต่อมาในปี 431 ปราบแคว้นซีฉินลงได้ แต่สุดท้ายถูกโจมตีโดยชนเผ่าเร่ร่อนถู่อี้ว์หุน แว่นแคว้นล่มสลาย
ในสมัยสามก๊กชนเผ่าเซียนเปยเหนือ ซึ่งมีลี่เวย เป็นหัวหน้าเผ่าได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตแคว้นของก๊กวุ่ย(โจโฉ) ต่อมาในปี 314 ชนรุ่นหลังของลี่เวย สถาปนาแคว้นไต้ ปี 376 ฝูเจียนแห่งแคว้นเฉียนฉินยกทัพปราบแคว้นไต้ จากนั้นจัดส่งสืออี้เจี้ยน ที่เป็นเจ้าแคว้นให้ไปศึกษาไท่เสียว์ (ว่าด้วยการบริหารและการปกครอง เป็นศาสตร์ความรู้ขั้นสูงสำหรับชนชั้นผู้ปกครองในสมัยนั้น) หลังจากการศึกที่เฝยสุ่ย แคว้นเฉียนฉินล่มสลาย หลานชายของสืออี้เจี้ยนวัย 14 ปี ซึ่งเติบโตมาในทุ่งหญ้าทางตอนเหนือ ได้นำพาผู้คนในชนเผ่าของตนก่อตั้งแคว้นไต้ขึ้นมาอีกครั้งในปี 386 ภายหลังเรียกกันว่า เป่ยวุ่ย หรือวุ่ยเหนือ ต่อมาในปี 396 วุ่ยเหนือล้มล้างโฮ่วเอี้ยน ครอบครองภาคเหนือของจีน เมื่อถึงรัชกาลไท่อู่ตี้ ก็ได้สืบทอดปณิธานการรวมแผ่นดินต่อมา ในปี 427 ปราบแคว้นเซี่ย ปี 432 ล้างดินแดนเหลียวตงแคว้นเป่ยเอี้ยน ปี 439 ปราบเป่ยเหลียง และชนเผ่าต่าง ๆที่เหลือ นับจากนั้น ฉากสงครามแห่งความแตกแยกวุ่นวาย สงครามตะลุมบอนหมู่ทางภาคเหนือที่กินเวลายาวนานมากว่า 130 ปีก็ได้จบสิ้นลง ดินแดนภาคเหนือกลับคืนเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ยุคแห่งสงครามแก่งแย่งของห้าชนเผ่าเป็นอันจบสิ้นลง
ยุค 16 แคว้นถึงแม้ว่าจะเป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความแตกแยกวุ่นวาย แต่ก็ได้ส่งผลต่อวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติจีนอย่างใหญ่หลวง กลุ่มชนเผ่าที่เคยอาศัยในเขตแดนห่างไกลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกของจีน ได้เข้ามาเป็นใหญ่ในดินแดนภาคกลางหรือจงหยวน ที่เดิมเคยปกครองโดยชาวฮั่นมาโดยตลอด เกิดการหลอมกลืนทางสายเลือดและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ในแง่การปกครองแล้ว ยังเป็นถือนิมิตใหม่ในการจัดการปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชนเผ่าและชนชั้น เมื่อผ่านการลองผิดลองถูก มีสำเร็จและล้มเหลว ประสบการณ์ของพวกเขาเหล่านั้น ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญต่อการปฏิรูปการปกครองในยุคต่อมา
Silph
# 19
[ 24-03-2007 - 23:10:09 ]
ราชวงศ์เหนือใต้ (คริสตศักราช 420 – 589) (เรื่องดังของช่วงนี้ก็ยังเป็นเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดอยู่ เรื่องนี้จะจบตรงการเริ่มต้นของยุคราชวงศ์เหนือใต้)
หลังจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ทางใต้) และยุค16แคว้น (ทางเหนือ) สิ้นสุดลง สภาพบ้านเมืองแบ่งแยกออกเป็นเหนือใต้ตั้งประจันหน้ากัน โดยราชวงศ์เหนือ (ค.ศ. 386 – 581) ต่อเนื่องจากยุค 16 แคว้น ปกครองโดยราชวงศ์เป่ยวุ่ยหรือวุ่ยเหนือ ซึ่งต่อมาแตกแยกออกเป็นวุ่ยตะวันออก และวุ่ยตะวันตก วุ่ยตะวันออกถูกกลืนโดยเป่ยฉี ส่วนเป่ยโจว เข้าแทนที่วุ่ยตะวันตก ต่อมาเป่ยโจวรวมเป่ยฉีเข้าด้วยกันอีกครั้ง ส่วนราชวงศ์ใต้ (ค.ศ. 420 – 589) ต่อเนื่องจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีการผลัดแผ่นดินโดยราชวงศ์ ซ่ง ฉี เหลียง และเฉินตามลำดับ
Silph
# 20
[ 24-03-2007 - 23:11:00 ]
ราชวงศ์เหนือ (ค.ศ. 386 – 581)
หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก (265 – 316) ภาคเหนือของจีนก็ตกอยู่ในภาวะจราจลและสงครามชนเผ่าของยุค 16 แคว้น จวบจนค.ศ. 386 หัวหน้าเผ่าทั่วป๋าเซียนเปยได้สถาปนาแคว้นเป่ยวุ่ย และตั้งนครหลวงที่เมืองผิงเฉิง( ปัจจุบันคือเมืองต้าถงในมณฑลซันซี) จากนั้นทยอยกวาดล้างกลุ่มอำนาจอิสระที่เหลือ ยุติความวุ่นวายจากสงครามแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือในที่สุด (ค.ศ. 439) บ้านเมืองมีความสงบและมั่นคงขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง
จนกระทั่งรัชสมัยเสี้ยวเหวินตี้ ขึ้นครองราชย์(ค.ศ. 471 – 499) ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งทำให้เกิดการเร่งกระบวนการหลอมรวมทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ภายใต้นโยบาย ‘ทำให้เป็นฮั่น’ อาทิ การใช้ภาษาฮั่นในราชสำนัก ให้ชาวเซียนเปยหันมาสวมใส่เสื้อผ้าของชาวฮั่น หรือแม้แต่เปลี่ยนมาใช้แซ่ตามแบบของชาวฮั่นเป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มชนเผ่ากับชาวฮั่นมากขึ้น นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการผูกสัมพันธ์ทางสายเลือดด้วยการแต่งงานระหว่างชาวฮั่นและเซียนเปย ขณะที่ในทางการเมืองก็เพิ่มปริมาณชาวฮั่นที่เข้ารับข้าราชการเป็นขุนนางมากขึ้น รวมทั้งยังหันมาใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองตามระเบียบปฏิบัติของชาวฮั่น และในปี 493 เสี้ยวเหวินตี้ทรงย้ายเมืองหลวงเข้าสู่ภาคกลาง – เมืองลั่วหยาง การปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของดินแดนทางตอนเหนือรุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็กลับสร้างความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจทางทหารของชนเผ่า
สิ้นรัชสมัยเสี้ยวเหวินตี้ เป่ยวุ่ยเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อม กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมา ไม่สนใจปฏิรูปการปกครอง แต่กลับรื้อฟื้นระบบสิทธิประโยชน์ของชนเผ่าเซียนเปย สร้างความขัดแย้งในสังคม เมื่อถึงรัชสมัยของเสี้ยวหมิงตี้ (ค.ศ.523) เกิดกบฏ 6 เมืองขึ้น เป่ยวุ่ยเข้าสู่ภาวะจลาจล อันนำสู่ภาวะสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา กลุ่มผู้มีอำนาจทางทหารหาเหตุยกพลบุกเมืองหลวงปลดและแต่งตั้งฮ่องเต้หุ่นเชิดตามใจตน
เมื่อถึงปี 534 เสี้ยวอู่ตี้ เนื่องจากทรงขัดแย้งกับเกาฮวน ที่กุมอำนาจในราชสำนัก จึงหลบหนีจากเมืองหลวง เพื่อขอพึ่งพิงอี่ว์เหวินไท่ ที่เมืองฉางอัน ฝ่ายเกาฮวนก็ตั้งเสี้ยวจิ้งตี้ กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยย้ายเมืองหลวงไปเมืองเย่ หรือเมืองอันหยางมณฑลเหอหนันในปัจจุบัน ทางประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า วุ่ยตะวันออก (ค.ศ. 534 – 550) ส่วนเสี้ยวอู่ตี้หลังจากไปขอพึ่งพิงอี่ว์เหวินไท่ได้ไม่นานก็ถูกสังหาร จากนั้นในปี 535 อี่ว์เหวินไท่ก็ตั้งเหวินหวงตี้ ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองฉางอัน ประวัติศาสตร์จีนเรียก วุ่ยตะวันตก (ค.ศ. 535 – 557)
ต่อมาไม่นาน หลังจากเกาฮวนสิ้น บุตรชายเกาหยาง ปลดฮ่องเต้หุ่น สถาปนา เป่ยฉี ส่วนวุ่ยตะวันตกก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน อี่ว์เหวินเจวี๋ย บุตรชายของอี่ว์เหวินไท่ สถาปนา เป่ยโจว
เป่ยฉี (ค.ศ. 550 – 577) ที่มีรากฐานจากวุ่ยตะวันออก เดิมทีบ้านเมืองค่อนข้างเข้มแข็ง แต่เนื่องจากกษัตริย์รุ่นต่อมาล้วนเลวร้ายและโหด
+++
ม ทั้งมากระแวง เปิดฉากฆ่าฟันทายาทตระกูลหยวน ซึ่งเป็นเชื้อสายจากราชวงศ์เป่ยวุ่ยและบรรดาขุนนางชาวฮั่นไปมากมาย ทำให้ราชวงศ์เป่ยฉีสูญเสียความชอบธรรมและการสนับสนุนจากกลุ่มชนเผ่าเซียนเปยเองและกลุ่มชาวฮั่น อันเป็นเหตุแห่งความล่มสลายในปี 577 เป่ยฉีก็ถูกเป่ยโจวกวาดล้าง
เป่ยโจว (ค.ศ. 557 – 581) ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับเป่ยฉี โดยแทนที่วุ่ยตะวันตก ในระยะแรกมีขุมกำลังอ่อนด้อยกว่าเป่ยฉี แต่เนื่องจากกษัตริย์โจวอู่ตี้ (ครองราชย์ปีค.ศ. 561-579) มีการบริหารการปกครองที่ได้ผล ทำให้เป่ยโจวทวีความเข้มแข็งขึ้น โดยในช่วงเวลาดังกล่าว มีการปฏิรูประบบกองกำลังทางทหาร โดยผสมผสานการเกณฑ์กำลังพลรบเข้ากับระบบกำลังการผลิต จนกระทั่งสามารถล้มล้างเป่ยฉี รวมแผ่นดินภาคเหนือเข้าด้วยกันในปี 577
ต่อมาปี 578 อู่ตี้สิ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา กำลังทางทหารของเป่ยโจวค่อยๆโยกย้ายสู่มือของหยางเจียน ผู้เป็นพ่อตาและญาติ เมื่อถึงปี 581 หยางเจียนปลดโจวจิ้งตี้ จากบัลลังก์ สถาปนาราชวงศ์สุย จากนั้นกรีฑาทัพลงใต้ ยุติสภาพการแบ่งแยกเหนือใต้อันยาวนานของแผ่นดินจีนได้เป็นผลสำเร็จ
1
2
3
4
5
ต้องสมัครเป็นสมาชิกและ login เข้าสู่ระบบก่อนถึงจะสามารถลงความเห็นได้
เว็บนี้มีการใช้งาน cookie
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ
www.Stats.in.th